วันที่ 29 มี.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า นักไวรัสวิทยาที่กำลังติดตามการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติของไวรัสโรคโควิด-19 ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ คืออะไรเป็นสาเหตุให้ไวรัสอย่าง BA.2 ถึงแพร่กระจายได้ไวกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะโอมิครอนตัวที่ครองพื้นที่ได้ก่อนอย่าง BA.1 หรือ BA.1.1 คุณสมบัติการแพร่กระจายแตกต่างกันชัดมาก สังเกตได้จากสถานการณ์ตอนนี้ที่การตรวจ ATK เป็นบวกพบได้กับคนรอบตัวเป็นรายวัน
“จากสมมุติฐานเดิมที่เคยตั้งไว้คือ ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณหนามสไปค์ทำให้จับโปรตีนตัวรับแน่นขึ้น หรือหนีภูมิได้ดีขึ้น แต่ข้อมูลวันนี้ ผมยังไม่เห็นออกมาแสดงว่าความแตกต่างดังกล่าวระหว่าง BA.1 และ BA.2 จะเอามาอธิบายได้ พูดง่ายๆคือ ไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์จับโปรตีนตัวรับได้ดีพอๆกัน และหนีภูมิได้พอๆกัน แล้วอะไรทำให้ BA.2 วิ่งไวกว่า BA.1 ขนาดนี้ ความเป็นไปได้คือ การกลายพันธุ์นอกโปรตีนหนามสไปค์” ดร.อนันต์ระบุ
ดร.อนันต์ ระบุด้วยว่า วันนี้เริ่มชัดขึ้นจากการค้นพบสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 ที่เริ่มเพิ่มการแพร่กระจายเป็นวงกว้างในสกอตแลนด์ เรียกสายพันธุ์นี้ว่า "BA.2.8" โดยข้อมูลที่เทียบการแพร่กระจายกับ BA.2 เดิม BA.2.8 ดูเหมือนจะวิ่งไวกว่า BA.2 ปกติประมาณ 34% และ ไวกว่า BA.1.1 ถึง 110%
BA.2.8 มีหนามสไปค์เหมือนกับ BA.2 ความแตกต่างอยู่ที่การกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่งบนโปรตีนตัวเล็กๆที่ชื่อว่า ORF3a คือตำแหน่งที่ 9 (T9K) และ 31 (A31T)
“จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้น่ากังวล สาเหตุคือ เราไม่รู้จัก ORF3a ว่าหน้าที่ของโปรตีนนี้ทำอะไรกันแน่ การศึกษาโปรตีนที่เราไม่รู้จักหน้าที่ชัดเจนจะยากมาก เพราะจะเดาทางไวรัสไม่ออก ถ้า BA.2.8 แพร่กระจายได้ไวอย่างที่สกอตแลนด์จริงในทุกที่ๆ ไวรัสระบาด ไวรัสตัวนี้จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น และคงมีอะไรใหม่ๆ มาอีกแน่ เพราะวัคซีนเราทำอะไร ต่อการเปลี่ยนแปลง หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงของ ORF3a ไม่ได้เลย หวังว่า BA.2.8 จะเป็นไวรัสที่โดนคุมได้ไม่แพร่ออกมาไว” ดร.อนันต์ระบุ
+ อ่านเพิ่มเติม