พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนของสำนักข่าว Bloomberg ครั้งที่ 7 (7th Bloomberg ASEAN Business Summit) ผ่านบันทึกเทปวิดีทัศน์ โดยผ่านระบบ live stream ของสำนักข่าว Bloomberg มีบุคคลสำคัญร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน อาทิ นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ และนางศรี มูลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย เป็นต้น
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้รับเชิญให้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ร่วมกับผู้นำรัฐบาลและผู้บริหารภาคธุรกิจระดับโลก ในหัวข้อ “การนำความเติบโตกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด” (Bringing growth back to pre-pandemic levels) เป็นเป้าหมายหลักของไทยและทุกประเทศในโลก ที่ต้องหันกลับมาทบทวน แสวงหาจุดแข็ง และก้าวไปข้างหน้า ฟื้นตัวอย่างมั่นคง โดยในปี 2564 เศรษฐกิจของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 3.5 - 4.5 จากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่
1. ยั่งยืน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม
2. เข้มแข็ง ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs ในยุคหลังโควิด ตลอดจนการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง
3. ครอบคลุม สร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในอนาคต
ในระดับภูมิภาค นายรัฐมนตรี กล่าวว่า อาเซียนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน คาดว่าเศรษฐกิจของอาเซียนจะเติบโตร้อยละ 5.2 ในปีนี้ และหากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน สามารถกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดได้ คาดว่า GDP ของอาเซียนจะเลื่อนจากอันดับ 5 ในปัจจุบัน ขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ภายในปี 2573 เชื่อว่า การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคจะช่วยเพิ่มพลวัตทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียน และสนับสนุนการเติบโตที่ครอบคลุมและกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเห็นควรเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนวาระการเติบโตที่ยั่งยืนและเข้มแข็งของอาเซียน การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน และการสนับสนุนของประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มของอาเซียนด้านการเงินที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ภาคธุรกิจอาเซียนมีความพร้อม มีศักยภาพ และความสามารถในการปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในยุคหลังโควิด-19 โดยมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศ ที่เกื้อกูลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำความเจริญเติบโตกลับมาสู่ภูมิภาค ซึ่งไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการรวมตัวของภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก และเพื่อประโยชน์ของประชาชนของเราสืบต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก 2022 ของไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยกำลังผลักดัน การรวมตัวทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความท้าทายใหม่ ๆ จากบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง การเร่งฟื้นคืนความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่ปลอดภัยและไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการทำให้เศรษฐกิจหลังโควิด-19 เติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล
+ อ่านเพิ่มเติม