ในอดีตสิ่งที่วัดความสำเร็จของชีวิตก็คงจะมีไม่กี่อย่าง แต่หนึ่งในนั้นก็คงไม่พ้นการมีครอบครัว และให้กำเนิดลูกเพื่อสืบทอดวงตระกูล การเลี้ยงดูเด็กนั้นต้องมีทั้งความรัก ความใส่ใจ ในการที่จะให้สอนลูกเป็นคนที่ดีของสังคม ให้การศึกษาที่คู่ควรและเป็นพื้นฐานที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งการจะสร้างสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้ทั้งเวลาและสภาพคล่องทางการเงินเพื่อที่จะสามารถให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กที่เกิดมาได้ แต่นี่ก็เป็นค่านิยมสมัยก่อนเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเด็กยุคใหม่ที่กำลังเติบโต ก็มองว่าการมีลูกนั้นต้องเสียสละอะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะร่างกาย อิสระในการใช้ชีวิต การเงิน ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ “ไม่พร้อมที่จะมีลูก” หรืออาจจะคิดว่า การมีลูก ในยุคนี้ เป็นเรื่องที่ดูเป็นไปได้ยาก
เมื่อเด็กรุ่นใหม่ไม่คิดจะมีลูก และไม่ได้มองว่าการมีลูกคือตัวแทนของการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ก็ไม่ต้องการที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว จึงนิยมหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว หนูแฮมเตอร์ กระต่าย แถมปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ก็เปิดกว้างมากขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบ Exotic Pets เช่น กิ้งก่าอิกัวนา แรคคูน งู เต่า สัตว์เหล่านี้ล้วนมีความน่ารักในฉบับของตัวเอง มีความขี้อ้อน เป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเจ้านายหรือผู้เลี้ยงเสมอ น้อง ๆ เหล่านี้ช่วยให้ผู้เลี้ยงมีความสุข สามารถผ่อนคลายจากความเครียด เยียวยาจิตใจให้กับผู้เลี้ยงได้ และที่สำคัญที่ทำให้คนหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น เพราะสัตว์เลี้ยงนั้นถึงจะมีความน่ารัก แต่ก็ยังสามารถดูแลตนเองได้ตามสัญชาตญาณของสัตว์ ทำให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องดูแล 24 ชั่วโมงเหมือนการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งที่ต้องดูแล 24 ชั่วโมง ไม่งั้นอาจจะเกิดอันตรายได้
และหากมองค่านิยมการเลี้ยงสัตว์แทนการมีลูกเองนั้น ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มองเพียงการมีลูกเป็นเรื่องความสำเร็จของชีวิต แต่เด็กรุ่นใหม่มองเห็นถึงข้อจำกัดทางสภาพสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป ที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยการเกิดของเด็กคนหนึ่งขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่กำลังมีความปั่นป่วน การศึกษาที่มีการเหลื่อมล้ำ สภาพสังคมที่เกิดอาชญากรรมไม่เว้นวัน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน การคมนาคม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อค่านิยมการมีลูกที่ลดน้อยลง เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะให้ลูกของตนเอง เกิดมาในสภาพสังคมที่ไม่พร้อมเช่นนี้ เพราะปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อไปในระยะยาวซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ง่าย หรือทำให้หายไปจากสังคมได้
ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีโครงการสนับสนุน “ส่งเสริมการมีบุตร” แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ยังมองว่า รัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุนการดูแลเลี้ยงดูบุตรที่มากพอ รัฐไม่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะเอาชีวิตของตนเอง และชีวิตของเด็กที่จะเกิดขึ้นมานั้น มาเสี่ยงกับสภาพการบริหารของรัฐ หรือสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือในอนาคตที่อาจจะแย่ลง รวมถึงรัฐบาลไม่สามารถเยียวยาความเป็นอยู่ หรือส่งเสริมการเลี้ยงดูได้อย่างเต็มที่ การที่คนรุ่นใหม่คิดเช่นนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบกว่า 70 ปี และจำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป คาดการณ์ว่าในอีก 60 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศในอนาคต ซึ่งค่านิยมการเลี้ยงสัตว์แทนการมีลูกนั้น ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศมากกว่าที่คิดเสียอีก
แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเลี้ยงลูกที่เกิดมาจากเลือดเนื้อ หรือสัตว์เลี้ยง ก็ต้องการความใส่ใจ ความรัก และเวลาไม่ต่างกัน สิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อจะเลี้ยงดูหนึ่งชีวิต คือ สภาพคล่องทางการเงินของตนเอง และต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงที่จะสามารถดูแลหนึ่งชีวิตนี้ได้ อีกทั้งถึงแม้รัฐจะสนับสนุน โดยเพิ่มจำนวนเงินในการดูแลเบื้องต้น แต่สภาพสังคมโดยรวม เศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การคมนาคม ปัญหาอาชญากรรม ทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่พร้อมที่จะให้กำเนิดลูกเพื่อมาเจอปัญหาเหล่านี้ในอนาคต
ความสำเร็จ
เศรษฐกิจไทย
สัตว์เลี้ยง
ไม่อยากมีลูก
เด็กรุ่นใหม่
การศึกษา
ความเหลื่อมล้ำในไทย
เด็กเกิดใหม่น้อยลง