หมอยง ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ หลบหลีกภูมิคุ้มกัน แนะจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 - 4
logo ข่าวอัพเดท

หมอยง ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ หลบหลีกภูมิคุ้มกัน แนะจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 - 4

ข่าวอัพเดท : วันที่ 24 ก.พ.2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกร หมอยง,ไวรัส,โควิด,กลายพันธุ์,เข็มกระตุ้น,วัคซีน

789 ครั้ง
|
25 ก.พ. 2565
       วันที่ 24 ก.พ.2565  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงวัคซีนโควิดฉีดกี่เข็มจึงพอ โดยระบุว่า วัคซีนในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นที่ยอมรับความมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง เดิมหลังจากพัฒนาวัคซีน มีเป้าหมายป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสโควิดมีระยะฟักตัวสั้น  จึงทำให้ยากต่อการป้องกันการติดเชื้อ เพราะต้องการระดับภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา
 
        เมื่อให้วัคซีนครบ 2 เข็ม การศึกษาประสิทธิภาพในระยะแรก เป็นการศึกษาประสิทธิภาพในระยะสั้นหลัง 2 เข็ม จึงดูเหมือนว่าได้ผลดี แต่ความเป็นจริงเมื่อเวลายาวนานออกไป ระดับภูมิต้านทานลดต่ำลง ประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอาการของโรคจึงลดลงตามระยะเวลาที่ห่างออกไป
 
        เมื่อมีการกระตุ้นเข็ม 3 จะมีการยกระดับภูมิต้านทานให้ขึ้นสูงไปใหม่ และก็จะลดลงตามกาลเวลาอีกเช่นเคย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอีก และก็จะลดลงอีก จึงมีความสำคัญในการกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
 
         “ภูมิคุ้มกันที่วัด ที่เป็นแอนติบอดี้หรือระดับ B เซลล์ จะป้องกันการติดเชื้อ ยิ่งสูงก็จะสามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์ได้ ส่วนระดับ T เซลล์ จะช่วยลดความรุนแรงหรือทำให้หายเร็วขึ้น” หมอยงระบุ
 
         หมอยงระบุด้วยว่า ขณะนี้การให้วัคซีนในประเทศไทยจะครบ 1 ปี จึงไม่แปลกที่ภูมิต้านทานจะลดลง และจำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3 และถ้านานวันออกไปอีก โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีที่ 2  ก็ไม่แปลกที่จะต้องมีการให้เข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นอีก หรือให้เข็มที่ 4  เพื่อยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ไวรัสกลายพันธุ์หลบหลีกระบบภูมิต้านทาน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้ภูมิต้านทานในระดับที่สูงกว่าปกติ และที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า เมื่อให้วัคซีนในประชากรหมู่มากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิต ลดลงกว่าการระบาดในปีแรกๆ