เลขา สมช. ขอทุกฝ่ายร่วมมือ "กลางวันอยู่บ้าน กลางคืนห้ามออก" งดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้ม
logo ข่าวอัพเดท

เลขา สมช. ขอทุกฝ่ายร่วมมือ "กลางวันอยู่บ้าน กลางคืนห้ามออก" งดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้ม

ข่าวอัพเดท : เลขา สมช. ตอบคำถามที่ประชาชนสงสัย ขอทุกฝ่ายร่วมมือ กลางวันอยู่บ้าน กลางคืนห้ามออก งดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้ม หากมีเหตุจำเป็นข เลขา สมช,ขอความร่วมมือ,อู่ฮั่น,โควิด,โมเดล,แพร่เชื้อ

1,600 ครั้ง
|
20 ก.ค. 2564
        เลขา สมช. ตอบคำถามที่ประชาชนสงสัย ขอทุกฝ่ายร่วมมือ กลางวันอยู่บ้าน กลางคืนห้ามออก งดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่สีแดงเข้ม หากมีเหตุจำเป็นขอให้ลงทะเบียนที่ https://covid-19.in.th 
 
         วันที่ 19 ก.ค.64  พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ  (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนสงสัย หลังยกระดับมาตรการคุมเข้มโควิดขึ้นอีก  โดยได้ตอบข้อซักถามต่าง ๆ  ดังนี้
 
คำถาม  กรณีผู้ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาฉีดวัคซีนในกทม. ยังสามารถขับรถเข้ามาได้หรือไม่ และจำเป็นต้องมีเอกสารเข้าพื้นที่ด้วยหรือไม่
 
         พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า โดยปกติแล้วการฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เว้นแต่กรณีที่มีการนัดให้มาฉีดวัคซีน ก็ขอให้แสดงหลักฐานการนัดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางมายังพื้นที่สีแดงเข้ม เพราะเสี่ยงในการติดเชื้อ ส่วนหลักฐานในการเดินทางหากมีเป็นเอกสารสามารถยื่นแสดงได้ แต่หากไม่มีเอกสาร สามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์หยุดเชื้อเพื่อชาติ https://covid-19.in.th  และท่านจะได้รับคิวอาร์โค้ด เมื่อไปถึงด่านก็ให้แสดงคิวอาร์โค้ดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำด่านจะมีแอปพลิเคชันที่อ่านคิวอาร์โค้ดก็จะสามารถเดินทางได้ รวมถึงจะต้องตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไม่สะดวกแต่ก็ต้องมีมาตรการคัดกรองเพื่อจำกัดและหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด
 
คำถาม การเดินทางช่วงกลางวันที่ไม่ใช่เวลาเคอร์ฟิวเป็นลักษณะขอความร่วมมือหรือคำสั่งห้าม
 
        พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เป็นลักษณะของการบังคับใช้ 2 ห้วงเวลาคือ ห้วงเวลาเคอร์ฟิวเราใช้คำว่าห้าม ส่วนนอกเวลาเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็น ต้องเว้นในบางกิจการ/กิจกรรม ฉะนั้นในช่วงนี้ขอใช้คำว่าให้งด ให้หลีกเลี่ยงเพราะเมื่อมีมาตรการที่เข้มข้นต่อไปอาจเป็นต้องใช้คำว่าห้ามซึ่งจะมีกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้
 
คำถาม  ข้อกำหนดระบุว่าเปิดสถานพยาบาลได้นั้น รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วยหรือไม่
 
          พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า รวมด้วยซึ่งเป็นในแง่ของมนุษยธรรม และเป็นกิจการด้านบริการสาธารณสุข เพราะในปัจจุบันพี่น้องประชาชนมีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแลและมีความผูกพันกัน หากสัตว์ป่วยหรือไม่สบาย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล
 
คำถาม ศบค.มีการเตรียมแผนรองรับอะไร หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลด จะมีการใช้โมเดลอู่ฮั่น ปิดเมืองคุมเชื้อหรือไม่
 
          พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้คิดสถานการณ์ขั้นต่อไปอยู่ตลอดเวลา เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะทำอย่างไร หากสถานการณ์ไม่ดีจะทำอย่างไร ส่วนโมเดลอู่ฮั่นเป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคได้พูดถึงกรณีนี้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่า จะประเมินอย่างไรมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ลักษณะโมเดลอู่ฮั่นหรือไม่ แต่ ศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี
 
คำถาม  มีแนวโน้มจะล็อกดาวน์แบบห้ามออกจากบ้านหรือไม่ และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อแค่ไหน ถึงจะต้องใช้มาตรการอู่ฮั่น
 
         พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราไม่ได้มองตัวเลขได้ตัวเลขหนึ่ง เรามองจากหลายปัจจัย ไม่ได้มองแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ
 
คำถาม ศบค.ได้ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันว่ายังเอาอยู่หรือไม่
 
         พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ได้เรียนพี่น้องประชาชนไปหลายครั้งแล้วว่าความสำเร็จในการควบคุมโรคประกอบด้วยกัน 3 ส่วนคือ 1.หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีความเข้มข้นจริงจังในมาตรการควบคุมโรค 2.ภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ศบค.กำหนด และ3.พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆที่ภาครัฐและภาคเอกชนกำหนด ทั้งนี้ในส่วนที่ 4.ที่จะขับเคลื่อนทำให้มาตรการต่างๆเป็นประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพคือ สื่อมวลชนที่จะทำความเข้าใจและขยายผลไปยังพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้าร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้ง 4 ส่วน ก็คาดว่าสถานการณ์จะเอาอยู่ แต่ถ้าลำพังศบค.อย่างเดียวต่อให้มีมาตรการที่เข้มงวด แต่ถ้าอีก 2-3 ส่วนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ก็คงคิดว่าศบค.ไม่น่าจะเอาอยู่