นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา ยอมรับว่า การเกาะติดสถานการณ์บ้านกกกอกของสื่อออนไลน์ มีผลกระทบต่อรูปคดีน้องชมพู่ นอกจากนี้ยังเปิดสาเหตุว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงสอบสวนเครื่องจับเท็จแต่ละบุคคลใช้เวลาไม่เท่ากัน
ช่วงวานนี้ (20 ม.ค. 64) พ่อแบม ชาวบ้านกกกอก และเด็กชายก๋วยเจ๋ง เป็นลูกน้าจุไรภรณ์และน้าเสริม น้าสาวของน้องชมพู่ เดินทางเข้าเครื่องจับเท็จ ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 จังหวัดปทุมธานี เพราะถือว่าทั้ง 2 คนเป็นพยานปากสำคัญ ซึ่งพ่อแบมยืนยันจะให้ข้อมูลกับตำรวจเหมือนเดิมที่เคยให้ไว้
ประเด็นการเข้าเครื่องจับเท็จของบุคคลในคดีน้องชมพู่ มีความน่าสนใจว่า สามารถแยกกลุ่มเข้าเครื่องจับเท็จ ออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้เข้าเครื่องจับเท็จเสร็จสิ้น 1 ชั่วโมง / 3 ชั่วโมง / และ 6 ชั่วโมง
ทีมข่าววันใหม่ สอบถามไปยัง รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ด็อกเตอร์กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลน่าสนใจกรณีกรอบเวลาที่ไม่เท่ากันของผู้เข้าเครื่องจับเท็จ
เนื่องจาก การสอบสวนโดยใช้เครื่องจับเท็จ ในแต่ละรายบุคคล เจ้าหน้าที่อาจมีประเด็นสอบสวนในแต่ละส่วนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะบางรายที่อาจมีประเด็นต้องสอบสวน เนื่องจากมีข้อสงสัย หรือ แม้แต่การให้การในแต่ละครั้งที่ไม่สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ พันตำรวจโท ด็อกเตอร์กฤษณพงศ์ ย้ำว่า การสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ต้องนำไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ในคดี ยังมิใช่ตัวชี้ชัดในการกำหนดผู้ต้องหา หากแต่ผลการสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จ จะทำให้พฤติการณ์ในคดีชัดเจนมากขึ้น
สำหรับคดีน้องชมพู่ พันตำรวจโท ด็อกเตอร์กฤษณพงศ์ ยอมรับว่า มีการติดตามข่าวมาโดยตลอด ซึ่งประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ คือ กรอบเวลาที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ส่วนประกอบสำคัญ อาจมาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวนพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือ แม้แต่พยานแวดล้อม
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการทำหน้าที่ของสื่อ เพราะให้เกิดผลกระทบสองด้าน คือ ด้านประโยชน์ สามารถใช้เป็นกระบอกเสียงในการแจ้งเบาะแส แต่อีกด้าน คือ อาจทำให้ผู้ต้องสงสัยทราบความเคลื่อนไหวการทำงานของเจ้าหน้าที่
โดยเฉพาะล่าสุด แม้สื่อกระแสหลักจะปรับรูปแบบการทำงานเกาะติดในพื้นที่ หากแต่ สื่อออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือ กลุ่มยูทูบเบอร์ ซึ่งลงไปรายงานแบบเรียลไทม์ ในช่วงท้ายใกล้ปิดคดีลักษณะนี้อาจเกิดผลกระทบต่อรูปคดี จึงอยากให้มีการจัดระเบียบการทำหน้าที่ของสื่อออนไลน์ เช่นกัน
สำหรับกลุ่ม ยูทูบเบอร์ ที่มาเกาะติดสถานการณ์เรียลลิตี้ บ้านกกกอก ในช่วงแรกมีประมาณ 20 ราย ล่าสุดอยู่ที่ 40 ราย จาก 40 แชแนล โดยมีผู้ติดตามมากที่สุด คือ ช่อง ลุงพลป้าแต๋นแฟมิลี่ ซึ่งมีผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 3.2 แสนราย
ขณะเดียวกัน ยูทูบเบอร์เหล่านี้ ยังเปิดที่พักหรือเช่าเต๊นท์พักเพื่อเกาะติดสถานการณ์ระยะยาว หากแต่ก่อนหน้านี้ นายอัจฉะริยะ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เคยออกมาให้ข้อมูลว่า ในยูทูบเบอร์ทั้งหมด อาจมีทีมสืบสวนอยู่ด้วยเช่นกัน
+ อ่านเพิ่มเติม