จากดราม่าก้อยตูน ตอบปมอยากทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยอย่างไรไม่ให้บาป?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

จากดราม่าก้อยตูน ตอบปมอยากทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยอย่างไรไม่ให้บาป?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : พาไปดูเรื่องที่เป็นประเด็นดราม่าของคู่รักนักวิ่งอย่าง ตูน บอดี้สแลม และภรรยาสาว ก้อย รัชวิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตูน บอ ดราม่า,ก้อยตูน,ตูนก้อย,ปล่อยปลา,ปล่อยกบลงแม่น้ำ

319 ครั้ง
|
06 ม.ค. 2564
พาไปดูเรื่องที่เป็นประเด็นดราม่าของคู่รักนักวิ่งอย่าง ตูน บอดี้สแลม และภรรยาสาว ก้อย รัชวิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตูน บอดี้สแลมได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการกระดูกคอกดทับเส้นประสาทและล่าสุดอาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งต่อมา  ตูนได้ควงภรรยาสาวไปทำบุญต้อนรับปีใหม่ด้วยการไปปล่อยปลา ปล่อยกบ ลงแม่น้ำ
 
แต่มีดราม่าเกิดขึ้นเมื่อก้อยได้โพสต์ภาพขณะทำบุญผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว หลังจากนั้นมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงตักเตือน ถึงการนำสัตว์อย่าง กบ ปล่อยลงแม่น้ำใหญ่ มีการระบุว่า เป็นการทำบุญที่จะได้บาปแทน เพราะกบไม่เหมาะกับการอาศัยอยู่ในแม่น้ำใหญ่
 
เรียกได้ว่าเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อยู่พักใหญ่ ต่อมา ก้อย รัชวิน ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออก และได้ทำการโพสต์ชี้แจง พร้อมกับแนบข้อมูลการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่ถูกต้องไว้หน้าแฟนเพจไว้ให้สำหรับคนที่สนใจ
 
ส่วนทางด้านกรมประมง ได้แนะนำวิธีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่ถูกต้อง โดยสัตว์ที่ปล่อยได้ปกติ อย่างเช่น
 
- ปลาช่อน ปลาดุก ควรปล่อยในลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่งบ้าง
 
- ปลาไหล ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัยดำรงชีวิต
 
- ปลาสวาย/ปลาบึก/ปลาตะเพียน/ปลากาดำ ควรปล่อยลงในแม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่ เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้น จึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
 
- หอยขม ควรปล่อยลงใน คูหนอง คลอง บึง และในนาข้าว ที่เป็นพื้นดินหรือโคลน ที่ระดับน้ำตั้งแต่ 10 ซม. ถึง 2 ม. ในน้ำที่ไม่ไหลแรงนักหรือเป็นน้ำนิ่งในที่ร่ม บริเวณที่มีเสา สะพาน ตอไม้ พันธุ์ไม้น้ำ เพื่อให้หอยยึดเกาะ
 
- กบ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำจะดีกว่า เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลง ซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย
 
ส่วนสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อย ได้แก่ สัตว์น้ำกลุ่มกินเนื้อเป็นอาหาร และสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกประเภท เช่น ปลาหมอมายัน ปลาหมอคางดำ ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาซัคเกอร์ เต่าแก้มแดง กุ้งเครฟิช
 
ทั้งนี้ การจะปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญ ควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
 
1.สัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรเลือกชนิดสัตว์น้ำให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะปล่อย
 
2.สัตว์น้ำที่ปล่อย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ
 
3.ควรปล่อยสัตว์น้ำพื้นเมือง ไม่ควรปล่อยปลาต่างถิ่นที่กำเนิดตามธรรมชาตินอกประเทศไทย เพราะจะเกิดผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กินปลาพื้นเมืองเป็นอาหาร นําโรค แย่งอาหาร แย่งที่อยู่อาศัย ทำลายระบบนิเวศ ไปจนถึงผสมกับพันธุ์พื้นเมืองมีผลต่อพันธุกรรม
 
หากมีข้อสงสัยและต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตอได้ที่กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เบอร์โทรศัพท์ 0 2558 0170 หรือกลุ่มวิจัยและพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืดเบอร์โทรศัพท์ 0 2558 0178 หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯเบอร์โทรศัพท์ 0 2940 6543
 
 
 
 
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/HgmlfEeMY-Y