MyCloudFulfillment พร้อมก้าวสู่ความเป็น 1 ด้าน Fulfillment ในระดับอาเซียน และเตรียมเข้าสู่ The future of commerce ชี้การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจออนไลน์จากวิกฤตโควิด19 และทิศทางการขายในโลกอนาคต หรือ Data Commerce ระบุไทยอยู่ในจุดที่หอมหวานในการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ - ส่งสัญญานเตือน 3 ข้อที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจ พร้อมประกาศรับเงินลงทุน Series A มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากผู้ลงทุน ได้แก่ ECG-RESEARCH, Gobi Partners, NVest Venture และ SCB 10X โดยมีเป้าหมายที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาระบบการจัดการด้านข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศ
วันที่ 8 ต.ค. นายนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด กล่าวว่า MyCloudFulfillment บริษัทคลังสินค้าออนไลน์ครบวงจร ผู้ให้บริการ Fulfillment ที่มาพร้อมกับระบบจัดการออเดอร์ (OMS) และระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) ช่วยร้านค้าจัดการ เก็บ แพ็ค ส่งสินค้า และเชื่อมต่อ API เข้ากับช่องทางการขายต่าง ๆ ได้แบบอัตโนมัติ (API Lazada, Shopee, etc.) ด้วยรูปแบบบริการที่ยืดหยุ่น มีบริการแพ็คสินค้า ที่สามารถ customize ได้ตามต้องการ เช่น แพ็คแบบพิเศษ QCสินค้า จัดเซ็ท เพิ่มมูลค่าสินค้าที่มากกว่าแค่ รับแพ็คสินค้าทั่วไป อีกทั้งยังช่วยจัดการSupply Chain จัดการคำสั่งซื้อ และนำข้อมูลการขายมาใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้
MyCloudFulfillment มีจุดแข็งด้านดาต้าในกระบวนการ เก็บ แพ็ค ส่งที่ช่วยลูกค้าได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า (Order Management Data) ที่สามารถช่วยรวมออเดอร์ของแต่ละช่องทางการขายมาเป็นที่เดียว และ ช่วยให้จัดการข้อมูลการซื้อของลูกค้า จัดการช่องทางการขาย จัดโปรโมชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ และมองเห็นโอกาสการเติบโตได้ (Growth potential)
การบริหารจัดการข้อมูลการเก็บสต็อคสินค้า (Inventory Management Data) ที่สามารถช่วยแนะนำสต็อคสินค้าที่เหมาะสมของแต่ละ SKU ได้ (Stock optimization) ให้สามารถเห็นได้ว่าสินค้าตัวไหนเก็บเยอะเกินไปหรือน้อยเกินไป ขั้นต่ำที่ควรเก็บคือจุดไหน เมื่อสต็อคเหลือถึงจุดไหนถึงควรเติม ทั้งหมดจะช่วยให้ธุรกิจบริหารค่าใช้จ่าย ค่าเช่า การเก็บสินค้า และการขนส่งเติมสินค้าให้พอดี เพื่อช่วยไม่ให้เงินจม และการบริหารจัดการข้อมูลการแพ็คและส่งสินค้า (Fulfillment Performance Data) ที่สามารถช่วยให้มองเห็นกำไรและต้นทุนของ แต่ละสินค้าแต่ละออเดอร์ได้ ร้านค้าจะทราบได้ว่าสินค้าตัวไหนขายแล้วได้กำไรดี ตัวไหนขายแล้วขาดทุน สามารถช่วยแนะนำวิธีให้ร้านค้าทำให้การซื้อต่อครั้งแพงขึ้น และช่วยให้ทำกำไรได้ดีขึ้น
นายนิธิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซทั่วโลก มีการเติบโตต่อเนื่อง และรายได้ทั่วโลกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ในปี 2563 มาจากภูมิภาคเอเชีย 45 ล้านล้านบาท เติบโต 29% จากจำนวนผู้ใช้ถึง 2,133 ล้านคน คิดเป็น 61.5% ของผู้ใช้ทั่วโลก สะท้อนขนาดตลาดที่ใหญ่สุดในโลก และยังพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มูลค่าอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงสุดถึง 44% ซึ่งในไทยอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท โตขึ้นมากถึง 42% จากปีที่แล้ว ซึ่งประชากรที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอันดับหนึ่ง ได้แก่ คนอินโดนีเซีย มีอัตราการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซต่อผู้ใช้ต่อปีที่ 219 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6,856 บาทต่อคนต่อปี และที่รองลงมาก็คือ คนไทย 215.67 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6,752 บาทต่อคนต่อปี แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีอัตราคาดการณ์ของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ต่ำกว่าอินโดนีเซียอยู่มาก นั่นหมายความว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเป็นตลาดที่ คนมีกำลังซื้อ และยังขยายได้อีกมากในอนาคต
จากสถานะการณ์โควิด -19 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแววเติบโตต่อไปอีกในอนาคต คือ อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มที่ผ่านการบรรจุภัณฑ์, อุปกรณ์ที่ใช้ภายในบ้าน และ ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้ซื้อ (New normal) และ จากกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ที่เข้ามาทดลองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งติดใจกับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว และที่น่าจับตามองคือ ธุรกิจความงามเครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย, และกลุ่มสุขภาพ-อาหารเสริม ถึงจะลดตัวลงนิดหน่อยจากการกลับมาของหน้าร้าน แต่จะกลับมาเติบโตได้ดีบนออนไลน์อีกครั้งในอนาคต โดยสุดท้ายแล้ว อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือธุรกิจแฟชั่น ที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการท่องเที่ยว
นายนิธิ กล่าวอีกว่า แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการขยายตัว เป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล เพื่อเป็นการระมัดระวัง ก่อนจะบุกทำตลาดผู้ประกอบการต้องเข้าใจ 3 ทิศทางตลาดและผู้บริโภคให้ถ่องแท้ ประกอบด้วย
1. Understand lifestyles not trend ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้าก่อน ไม่ใช่เทรนด์ เนื่องจากยุคดิจิทัลเทรนด์ตลาดหรือผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจอยู่ได้ไม่กี่วัน เทียบอดีตอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี แต่การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเชิงลึกจะทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าได้อย่างยั่งยืน เช่น ผู้บริโภคซื้อแอลกฮอล์ หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และมองหาสินค้าอื่นเพื่อดูแลสุขอนามัย สะท้อนความต้องการสินค้าอื่นอย่างต่อเนื่อง เพราะไลฟ์สไตล์กลัวเชื้อโรค รักสุขภาพไม่เปลี่ยน แต่ความต้องการสินค้าเปลี่ยนได้
2. Understand journey not channels ต้องเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าก่อนเลือกช่องทาง การเข้าใจเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภค (Customer journey) มีความสำคัญมาก เพื่อให้พ่อค้าแม่ขายสามารถนำเสนอสินค้าและบริการ โปรโมชั่น ผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Marketplace อย่างLazada, Shopee, JD Central Social Commerce อย่าง Facebook, Instagram หรือ ช่องทางเว็ปไซต์ ได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
3. Understand patterns not numbers ต้องเข้าใจรูปแบบไม่ใช่ตัวเลข การขายสินค้าออนไลน์ค่อนข้างมีรูปแบบ อย่างการจัดโปรโมชั่น 11 11, 12 12 ของ Marketplace แบรนด์ต่างๆ หรือสถานการณ์ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะรู้ทิศทางสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ สินค้าขายดี เช่น สินค้าแฟชั่น เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เมื่อถูกกระทบจากโควิดยอดขายจึงหดตัว เป็นต้น
“ตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ถือว่าอยู่ในจุดที่เรียกว่า Sweet spot คือไม่ใช่จุดที่ดีที่สุด แต่เราอยู่ในจุดที่หอมหวานที่สุด คนไทยชื่นชอบและนิยม การซื้อสินค้าออนไลน์ ใช้จ่ายเฉลี่ยใกล้เคียงกับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย แต่เทียบประชากรเราแล้ว การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเราต่ำกว่า จึงสะท้อนว่าโอกาสทางการตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีอีกมหาศาล ในอนาคตจะมีผู้คนเข้ามาโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าหน้าใหม่ยังเกิดใหม่เรื่อยๆ หากผู้ประกอบการต้องการลงทุน ขยายตลาดช่องออนไลน์ ต้องดำเนินการตอนนี้เลย”
ด้าน ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด และผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนผู้ลงทุนของ MyCloudFulfillment กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซ และตลาดโลจิสติกส์ในเมืองไทยรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูงและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 มีความเข้มข้น และด้วยบริการคลังสินค้าออนไลน์ จัดเก็บ แพ็คสินค้า ของ MyCloudFulfillment มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีความสามารถในการพัฒนารูปการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์
อีกทั้งสามารถยกระดับการให้บริการไปสู่ระดับอาเซียนเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง ที่สำคัญมีศักยภาพที่จะก้าวไปเป็นผู้นำด้าน Fulfillment ที่มากกว่าแค่ เก็บ แพ็ค ส่งบนเวทีในระดับภูมิภาคได้ ประกอบกับ SCB 10X ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพไทยและธุรกิจโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เราให้ความสนใจ เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรอบ Series A ของทาง MyCloudFulfillment ร่วมกับผู้ลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งนอกจากการสนับสนุนด้านเงินลงทุนแล้ว เรายังมีแผนในการพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ Social commerce ในอนาคตรวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการและลูกค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ เงินทุนจะนำไปใช้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือการพัฒนาระบบการจัดการด้านข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซบริหารจัดสินค้า ขายสินค้าได้ง่ายขึ้น นำข้อมูลสถิติ ที่มีมาใช้ในการทำ predictive analytics ได้มากขึ้น สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึง การพัฒนาศักยภาพด้านบริการแก่ลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต และส่วนที่สองคือการขยายฐานพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มเติม เราร่วมมือกับ agency และ E-commerce enabler ชั้นนำต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบวงจร รวมถึงพาตเนอร์พิเศษที่ร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น เช่นรูปแบบ white label logistics ที่เราร่วมมือกับ SCG ด้านการขยายคลังสินค้า หรือ รูปแบบที่จับมือกับ SCB 10X ในการทำโซลูชั่นเพื่อร้านค้าในการทำ social commerce เพื่อยกระดับประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภค
ขณะที่ นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า จากผลกระทบที่เราได้รับจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ที่ผ่านมา ทำให้ออเดอร์เราเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เอสซีจี ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอยู่เสมอ จากที่ทาง MyCloudFulfillment ได้นำเสนอไปเกี่ยวกับ อนาคตของโลกการค้า (Future of Commerce) ทำให้เราต้องวางแผนและพร้อมปรับตัวรับมือกับทุกสถานการณ์ สิ่งที่เราต้องทำคือ ปรับตัวให้เร็ว และ ทำตัวให้ยืดหยุ่น เราจึงพาร์ทเนอร์ร่วมกับ MyCloudFulfillment เพื่อช่วยกันปรับตัวไปสู่โลกอนาคต ถึงแม้ตลาด E-Commerce จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็ตามแต่เราต้องมีวิธีการรับมือ ซึ่งการเก็บรวบรวมดาต้าที่ดีจะช่วยนำมาสร้างมูลค่าให้ผู้ประกอบเติบโตและไปต่อได้ในโลกอนาคต
เอสซีจี เล็งเห็นศักยภาพ และ ผลงานที่ดีของ MyCloudFulfillment เราจึงเลือกจับมือด้วย เราเก่งเรื่อง hardware และเครือข่ายโลจิสติกส์ทั่วประเทศ แต่ MyCloud เก่งเรื่อง software และการจัดการ Fulfillment สำหรับลูกค้า B2C หรือ Online หากเราทั้งสองร่วมมือกัน เราทั้งคู่ก็จะไปข้างหน้าได้เร็วกว่า คุ้มค่ากว่า ซึ่งทั้งหมด เพื่อช่วยก้าวข้ามขีดความสามารถด้านการให้บริการ และตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสนับสนุนให้ Ecosystem ของสตาร์ทอัพเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเอสซีจี