มาคุยเรื่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เมนูสะดวกที่ต้องมีติดบ้าน กินง่าย แค่เติมน้ำร้อนไม่กี่นาทีก็ได้กินแล้ว ซึ่งความธรรมดาและเรียบง่ายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่เคียงข้างคนไทยมายาวนานในทุกสถานการณ์ ยังสะท้อนเศรษฐกิจของประเทศเราอีกด้วย คล้ายกับประเทศแถบตะวันตกที่จะมีดัชนีเฟรนช์ฟรายส์
อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า ดัชนีมาม่า หากเศรษฐกิจแย่มาม่าจะขายดี เพราะเป็นสินค้าที่คนจะรับประทานแทนอาหารหลัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะถ้าซื้อปลีกก็ราคาเริ่มต้นซองละ 6 บาทเท่านั้น
ล่าสุดมีข้อมูลจากมาม่า แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง ในเครือสหพัฒนพิบูล โดยคุณเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล (SPC) เปิดเผยว่า พิษโควิด-19 กระทบยอดขายมาม่า ซึ่งตอนนี้ยอดขายทั้งประเภทซอง และประเภทคัพของมาม่าได้ตกลงตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยช่วง มี.ค. ถ้าจำกันได้จะเป็นช่วงที่มีการล็อคดาวน์ใหม่ๆ คนตื่นตระหนก มีการกักตุนอาหาร ทำให้มีประชาชนซื้อสินค้าเพื่อบริโภคและกักตุนเยอะมาก ส่งผลให้ยอดขายสูงถึงร้อยละ 41 เลยทีเดียว ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกประมาณ 30% จากเดิมสามารถผลิตได้วันละ 4 ล้านซอง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตนี้
แต่หลังจากนั้น เมื่อมาตรการล็อคดาวน์ผ่อนคลายลง ร้านอาหารต่างๆ เปิดขาย การสั่งซื้อผ่านแอปเดลิเวอรี่เป็นที่นิยม ทำให้ยอดขายมาม่าตกลง ทำให้ช่วงโควิด มาม่ามียอดขายเหมือนจะดีแค่เดือนเดียว
อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประเภทซองขายดีกว่าแบบถ้วย หรือที่เรียกว่ามาม่าคัพ ซึ่งยอดขายมาม่าคัพในปีนี้ ยอดตกมากกว่า 50% เพราะไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว แต่เมื่อรัฐออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ชดเชยวันหยุดสงกรานต์และวันหยุดยาวอื่นๆ ก็ทำให้มาม่าคัพเริ่มมียอดขายกลับมาได้บ้าง
ส่วนกรณีที่ภาครัฐออกมาตรการคนละครึ่งนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้บ้าง เพราะสินค้าอุปโภคบริโภค หรืออาหารการกิน เป็นสิ่งที่คนต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากน้อยเพียงใดในช่วงปลายปีนี้
ดังนั้น การจะมองว่า เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าจะขายดี ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าก็ยอดขายตกด้วยเช่นกัน
ย้อนดูส่วนแบ่งของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยเมื่อปี 2562
มาม่าเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 50%
ตามด้วยไวไว 24%
ยำยำ 22%
และแบรนด์อื่น ๆ 4%
และตัวเลขล่าสุดของมาม่า ยอดขายช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ ในช่วงโควิดระบาดหนักในไทยและมีคำสั่งล็อคดาวน์ มาม่ามีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8% แบ่งเป็นยอดขายแบบซองเติบโต 20% และยอดขายแบบคัพเติบโต 10% ขณะที่การขายออนไลน์ผ่าน www.sahapatdelivery.com เติบโตขึ้น 100% เนื่องจากผู้บริโภคเดินทางออกจากบ้านน้อยลง
สำหรับ 5 รสชาติยอดนิยมของมาม่า แบบซอง 6 บาทที่ขายดีที่สุดในปี 2563 ได้แก่
1.ต้มยำกุ้ง
2.หมูสับ
3.ต้มยำกุ้ง น้ำข้น
4.เย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ
5.เป็ดพะโล้
มาดูตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลกกันบ้าง รู้หรือไม่ว่าชาวเอเชียอย่างเราๆ บริโภคไปมากกว่า 80% ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกเลยทีเดียว
ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association) ระบุว่า ประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลกในปี2019ได้แก่
1.จีน 41,450 ล้านซอง
2.อินโดนีเซีย 12,520 ล้านซอง
3.อินเดีย 6,730 ล้านซอง
4.ญี่ปุ่น 5,630 ล้านซอง
5.เวียดนาม 5,430 ล้านซอง
6.สหรัฐอเมริกา 4,630 ล้านซอง
7.เกาหลีใต้ 3,900 ล้านซอง
8.ฟิลิปปินส์ 3,850 ล้านซอง
9.ไทย 3,570 ล้านซอง
10.บราซิล 2,450 ล้านซอง
แต่ถ้ามาคิดแบบเฉลี่ยแบบต่อคนต่อซองใน 1 ปี จะพบว่าชาวเกาหลีใต้บริโภคมากที่สุด 75.1 ซอง/คน/ปี
ตามด้วยเนปาล 57.6 ซอง/คน/ปี
และเวียดนาม 56.9 ซอง/คน/ปี
ในขณะที่ไทย 54 ซอง/คน/ปี
และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยของเรามีการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยทีเดียวเป็นรองแค่จีนและเกาหลีใต้ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ในช่วงวิกฤตโควิดมูลค่าการส่งออกโตถึง 11% ส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเราส่งออกไปที่กัมพูชามากที่สุด ตามมาด้วยเมียนมา, ลาว และเวียดนาม