โพสต์รูปเหล้า-เบียร์ ทำไมถึงผิด? คำถามที่คาใจใครหลายคนถึงความเหมาะสมของของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จนเกิดเป็นกระแสสังคมโจมตีว่าเป็นการคุกคามสิทธิของประชาชน และสร้างความกังขาว่าจะโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้ถูกกฎหมาย…
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก และอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถึงวัตถุประสงค์ ข้อห้าม รวมถึงหลักการโพสต์รูปเหล้าเบียร์อย่างไรถูกกฎหมาย และโพสต์อย่างไรผิดกฎหมาย
(ผศ.ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ)
ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากสุราไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ หรืออาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้าง อาทิ ดื่มแล้วขับ หรือเมาแล้วก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายผู้อื่น"
"โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราพบว่า มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนหันมาดื่มสุรามีจำนวนมากขึ้น และที่สำคัญช่วงวัยของผู้ดื่มมีอายุน้อยลงทุกที โดยพบว่าเด็กเริ่มดื่มสุราตั้งแต่อายุ 11 ปี เนื่องจากขาดการควบคุม ดังนั้น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงถูกประกาศใช้เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน”
ผศ.ดร.บุญอยู่ อธิบายให้เข้าใจได้โดยง่ายว่า เมื่อพิจารณาตามเกณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ควบรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ยี่ห้อ และทุกสัญชาติ ซึ่งมาตรา 32 วรรคแรกระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายความว่า อะไรก็ตามที่เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตามถือว่ามีความผิด
วรรคที่สองระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือจูงใจผู้อื่นให้ดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ดังนั้น หากมียี่ห้อเครื่องดื่ม หรือมีข้อความ รูปภาพ เสียงที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณถือเป็นความผิด
โดยเกณฑ์การพิจารณา จะต้องดูที่บริบท หรือเจตนาในการโพสต์ภาพนั้นๆ ว่าเข้าข่ายละเมิดข้อห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวหรือไม่
- รับจ้างโฆษณา หรือรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
- โพสต์ขวดเหล้า-เบียร์เห็นสลาก ยี่ห้อ
- โพสต์ขวดเหล้า-เบียร์ ไม่เห็นสลาก แต่ดูแล้วรู้ว่าเป็นยี่ห้อใด
- โพสต์ข้อความ ภาพ เสียง หรือท่าทางที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ เช่น สีสันน่าทาน, ได้รางวัล…, ใช้วัตถุดิบชั้นดี และอื่นๆ
- โพสต์ข้อความ ภาพ เสียง หรือท่าทางที่เป็นการจูงใจให้ดื่มทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น รสชาติหวาน, หอม, นุ่ม, อร่อย, สดชื่นมีชีวิตชีวา, น่ากิน, อื่นๆ
- โพสต์ภาพงานเลี้ยงติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีข้อความอวดอ้างสรรพคุณ หรือเชิญชวนให้กินเหล้า
- โพสต์ขวดเหล้า-เบียร์ที่ไม่มีสลาก และดูไม่ออกว่าเป็นยี่ห้อใด
- โพสต์ภาพแก้วเบียร์ ไม่มีโลโก้ ยี่ห้อ หรือข้อความเชิญชวนผู้อื่นให้กินเหล้า
- เขียนคำว่าเบียร์ในสื่อโซเชียล
- ใช้สติ๊กเกอร์บัง หรือเบลอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากถ่ายภาพงานเลี้ยงแล้วติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้ตั้งใจก็ไม่ถือเป็นความผิด แต่หากเขียนข้อความเพิ่มที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือเชิญชวนจูงใจให้อยากดื่มจะถือว่ามีความผิด
ดารา เน็ตไอดอล หรือบุคคลสาธารณะ เนื่องจากเป็นบุคคลที่สามารถสร้างแรงจูงใจแก่ผู้อื่นได้ ดังนั้น การที่ดาราโพสต์ภาพเครื่องดื่ม แม้จะไม่ได้มีข้อความที่เข้าข่ายอวดอ้างสรรพคุณ หรือเชิญชวนให้ดื่มแอลกอฮอล์ ก็ถือเป็นความผิด
ส่วนบุคคลทั่วไป หากโพสต์ภาพที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีข้อความละเมิดก็จะต้องดูเจตนาเป็นรายกรณีไป
ขณะที่ ผู้ที่แชร์โพสต์ภาพที่สุ่มเสี่ยงมีความผิด จะมีความผิดฐานเป็นผู้โพสต์มือที่ 2 แต่ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นกัน
ตามหลักการแล้วนั้น ส่วนใหญ่ตำรวจจะไม่จับกุมผู้กระทำความผิดโดยตรง แต่จะเป็นเจ้าพนักงานสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากมีการร้องเรียนจากภาคประชาชนให้ทำการตรวจสอบ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะยังไม่แจ้งความร้องทุกข์กับผู้ต้องสงสัยกระทำความผิด โดยเบื้องต้นจะทำการเชิญมาพูดคุยสอบถามข้อเท็จจริง หากสามารถยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาละเมิดจริงๆ ก็จะไม่มีการดำเนินคดี แต่หากพบว่ากระทำความผิดโดยเจตนาก็จะมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้มีการส่งฟ้องต่อไป
โดยผู้กระทำความผิดจะถูกส่งตัวฟ้องศาล ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ต้องการขึ้นศาลก็สามารถขอเปรียบเทียบปรับตามดุลยพินิจพนักงานเปรียบเทียบปรับได้
อย่างไรก็ตาม หากเป็นการละเมิดมาตรา 32 จะมีจำนวนเปรียบเทียบปรับระบุไว้ชัดเจน คือ ทำผิดครั้งแรกปรับ 50,000 ครั้งที่ 2 ปรับ 200,000 บาท ครั้งที่ 3 ขึ้นไปปรับ 500,000 บาท แต่หากเป็นผู้ผลิตจะถูกปรับ 500,000 บาททันที หรือหากพนักงานเปรียบเทียบปรับเล็งเห็นว่ากระทำความผิดจริงโดยเจตนาก็อาจจะไม่รับการเปรียบเทียบปรับและส่งตัวฟ้องศาลเลยก็ย่อมได้
ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 2551 ดังนั้น หากภาพที่เข้าข่ายมีความผิดถูกเผยแพร่ก่อนวันประกาศใช้กฎหมาย(ปี 2551)ก็จะไม่มีความผิด
"แต่หากภาพที่ฝ่าฝืนโพสต์หลังจากการประกาศใช้กฎหมาย แล้วยังสามารถเข้าถึงได้ ก็ยังคงมีความผิดอยู่ แต่จะมีอายุความเพียง 5 ปีนับจากวันที่เผยแพร่(หากภาพที่โพสต์มีอายุเกินกว่า 5 ปีก็จะไม่มีความผิด) ซึ่งจะนับทุก 1 การเผยแพร่(กี่รูปก็ได้)ต่อ 1 คดี แต่ทว่าหากนำภาพหรือวิดีโอที่มีอายุการเผยแพร่เกิน 5 ปีกลับมาเผยแพร่ใหม่ก็จะนับเป็นความผิดใหม่ทันที" ผศ.ดร.บุญอยู่ ทิ้งท้าย.