เช้านี้ที่หมอชิต - ภายหลัง พิธา กล่าวถึงสุราหลากยี่ห้อที่ผลิตในท้องถิ่นต่าง ๆ จนปลุกกระแสสุราก้าวหน้าที่ร้อนแรงยิ่งกว่าดีกรีในขวดเหล้า เพราะในวันเดียวโรงเหล้าท้องถิ่นหลายจังหวัดมียอดสั่งจองจนหมดสต็อกไปตาม ๆ กัน แต่ประเด็นนี้ตามมาด้วยข้อถกเถียงขึ้นในสังคมไม่น้อย
มุมมองฝั่งองค์กรต้านเหล้า เราได้นำเสนอไปแล้วเมื่อสักครู่ บ้างว่า ถ้าไม่ห้ามบ้างจะทำให้เกิดเมาขับ 24 ชั่วโมง หรือ ถ้าปล่อยให้โฆษณาสุราก้าวหน้าก็จะทำให้มีผู้หญิงเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีมุมมองที่แย้งว่า การแก้ปัญหาด้วยการห้ามแบบนี้เป็นการเดินนดยบายผิดฝาผิดตัวหรือไม่ เพราะหากมองผ่านบทเรียนของหลาย ๆ ประเทศที่เคยเจอปัญหาเมาขับ มีอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ต่างจากเรามาก่อน ประเทศเหล่านี้ยังคงอนุญาตดื่มได้ 24 ชั่วโมง และสามารถจัดการปัญหาเมาขับได้ดี แม้ไม่มีมีข้อห้ามสารพัด เรามีโอกาสคุยเรื่องนี้กับ อาจารย์ ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิชาการด้านเพศสภาวะ อดีตนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่เคยใช้ชีวิตทั้งในดินแดนวิสกี้ สก็อตแลนด์ และดินแดนแห่งสาเก เบียร์ รวมถึงสุราชุมชนกว่า 50,000 แบรนด์อย่างญี่ปุ่น ไปรู้จักกันหน่อยว่าประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรมการกินดื่มอย่างไร
อาจารย์ ภัทรัตน์ บอกว่า สิ่งที่อาจต่างไปบ้างจากบ้านเราคือในสก็อตแลนด์ หรือ ในญี่ปุ่นอาจดื่มระหว่างมื้ออาหารด้วย บางคนบอกให้เจริญอาหาร หรือ บางคนบอกว่าทำให้การสนทนาลดความตึงเครียดลงว่ากันไป
แน่นอนว่า ทุกประเทศย่อมมีปัญหามาก่อนอย่างญี่ปุ่น หลังอุตสาหกรรมรถเติบโตในทศวรรษที่ 1950 ก็มีอุบัติเหตุสูง อัตราการเมาขับสูง แต่เขามีวิธีจัดการที่ไม่ใช่มองว่าปัญหาจัดการยาก หรือ ซับซ้อนก็ห้ามไปเลย ยกปัญหากลับไปให้คนดื่มเหล้า หรือ คนขายทั้งหมด หากมองจากญี่ปุ่น ถ้าจะแก้ไขหลักใหญ่ ๆ มี 3 อย่างคือ 1.กฎหมายที่บังคับใช้และลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับอย่างจริงจัง ซึ่งญี่ปุ่นกับไทยมีกฎหมายเมาแล้วขับที่แตกต่างกันมาก โทษเมาแล้วขับของญี่ปุ่นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับประมาณ 1 ล้านเยน หากชนคนเสียชีวิตโทษจำคุกถึง 20 ปี แต่ของไทยจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หากเสียชีวิตจำคุก 3-10 ปีเท่านั้น จะเห็นว่าต่างกันมาก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเอาผิดไปถึงคนข้าง ๆ เช่นถ้าเป็นผู้ยื่นให้ดื่มแล้วเขาไปเมาขับโดนด้วย โดยสังคมของเขาการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากกรณีนี้
2.ระบบขนส่งสาธารณะที่จะเข้ามาช่วยรองรับผู้ดื่มได้ ในญี่ปุ่นถ้าคุณจะไปดื่ม วันนั้นจะไม่มีการขับรถ แต่ก็ใช้ขนส่งสาธารณะได้อย่างสบายใจ หากระบบไม่รองรับตรงนี้ หลายคนบอกว่าขับรถเองดีกว่าซึ่งเรื่องนี้ต้องมองรวมถึงความปลอดภัย หากเราต้องเดินจากสถานีไปที่พักด้วย
3.เรื่องของจิตสำนึก ต้องเป็นเรื่องที่สร้างควบคู่กันระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและขนส่งสาธารณะ
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมา คือหากอนุญาตให้มีการโฆษณาสุราเสรีได้ จะทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่เป็นผู้หญิงมากขึ้น อาจารย์ ภัทรัตน์ มองว่า แนวคิดนี้ผูกโยงกับความคิดเรื่องความเป็นผู้หญิงที่ดีของสังคมไทยที่บอกว่าผู้หญิงที่ดีไม่ควรดื่มเหล้า ไม่ควรเมาในที่สาธารณะเพราะจะถูกมองไม่ดี เสี่ยงถูกถูกลวนลาม หรือ ล่วงละเมิดได้ ซึ่งมันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ สิ่งที่ควรเป็นค่านิยมใหม่ที่ต้องเปลี่ยนไปพร้อมกับค่านิยมเมาไม่ขับที่นักดื่มควรต้องรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมากขึ้น ก็คือ ค่านิยมที่กดทับเพศใดเพศหนึ่ง ควรมองว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะดื่ม หรือ ไม่ดื่ม การดื่มไม่ได้ลดคุณค่าของผู้หญิงลง รวมถึงไม่ใช่ใบอนุญาตให้ผู้ชาย หรือ จะเพศใดลวนลามหรือล่วงละเมิดได้
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม