ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อมรณะโควิด-19 มนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ ข้าราชการ สารพัดอาชีพต้องตกงาน รายได้หดหาย หรือแม้กระทั่งขาดรายได้ แต่ทว่ารายจ่ายกลับพุ่งสวนทางรายรับมิเว้นวัน ซ้ำร้ายหลายคนยังมี ‘หนี้’ ภาระตัวร้ายที่จะต้องจ่ายทุกเดือน…
ตกงาน ถูกลดเงินเดือน ไม่มีรายได้ แต่หนี้ยังต้องจ่ายทุกเดือน หากคุณตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ คุณควรจะทำอย่างไรให้ความทุกข์ ความลำเค็ญร้ายๆ นี้ผ่านพ้นไป...
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ถึงเทคนิคในการวางแผนทางการเงิน วิธีรับมือหนี้สิน พร้อมทางแก้ปัญหา ฉบับคนตกงาน คนถูกลดเงินเดือน อยู่อย่างไรให้รอดในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ!
นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ตกงาน แต่มีหนี้ต้องจ่าย ต้องทำอย่างไรให้รอด?
วิวรรณ นักวางแผนการเงินเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ให้เทคนิคว่า อันดับแรก คุณจะต้องเข้าไปปรึกษากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่คุณกู้มา ซึ่งสถาบันการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือในส่วนของกรณีฉุกเฉินคือ พักชำระชั่วคราว ยืดระยะเวลาผ่อน หรือ ลดยอดผ่อนชำระ
ทั้งนี้ หลังจากที่คุณกลับมามีรายได้แล้ว คุณก็สามารถกลับมาเจรจาผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงินใหม่อีกครั้ง และต้องขอย้ำว่า อย่าเพิกเฉยหนี้ จนมีหนี้ค้าง หรือ ผิดนัดชำระ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดดอกเบี้ยปรับในอัตราสูง ที่สำคัญยังเสียประวัติอีกด้วย
โดย วิวรรณ ได้แนะนำวิธีฟันฝ่าปัญหาการเงินในช่วงวิกฤติโควิด-19 สำหรับคนตกงาน คนถูกลดเงินเดือน หรือคนที่ขาดรายได้ เอาไว้อย่างน่าสนใจ และสามารถทำตามได้อย่างไม่ยากเย็น ดังต่อไปนี้
1. ประหยัด
ลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย และการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น หลายคนอาจจะบอกว่าทำไม่ได้ ทำยาก แต่ว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การประหยัดคือสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด
2. ลดต้นทุน
บริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง หรือ ทดแทนด้วยสิ่งที่มีราคาต่ำกว่า แต่ก็ต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเอง เช่น อดอาหาร รับประทานแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะหากขาดอาหาร แล้วล้มป่วยจะยิ่งเดือดร้อนกันไปใหญ่
3. หารายได้เพิ่ม
แม้จะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ในวิกฤติบางครั้งย่อมมีโอกาส เช่น เมื่อผู้คนไม่ประสงค์จะออกไปจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น การบริการซื้อของจำเป็นให้ลูกค้า, บริการรับของไปส่งสินค้า หรือบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยสำหรับคนที่อยากหารายได้เพิ่ม
4. เพิ่มสภาพคล่องด้วยการขายทรัพย์สินไม่จำเป็น
ในคราวจำเป็น คุณควรจะสำรวจดูว่า คุณมีทรัพย์สินชิ้นไหนที่ไม่จำเป็นหรือไม่? หากขายไปแล้วจะทำให้มีเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายได้ก็ควรทำ เพราะเรื่องปากท้องสำคัญกว่า
5. เงินสำรองยามฉุกเฉิน
วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะสำหรับผู้ที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่แล้ว หากคุณไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน คุณต้องเริ่มวางแผนทางการเงิน และ จัดสรรเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในครั้งหน้า คุณจะได้มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้
6. ขอผ่อนผันการชำระหนี้ หรือขอกู้เงินระยะสั้น
หากพยายามทำทุกทางแล้ว แต่เงินก็ไม่พอ คุณอาจจะต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน เพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระคืนออกไป หรือขอกู้เงินระยะสั้น เพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องหมุนเวียนใช้จ่าย ซึ่งช่วงนี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
7. ใช้เงินชดเชยจากประกันสังคม
กรณีตกงาน สมัครใจลาออก หรือถูกเลิกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน โดยแบ่งการชดเชยเป็นสองกรณี ดังนี้
- กรณีแรก คือ ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
- กรณีที่สอง คือ ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 4,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
รีไฟแนนซ์ กลยุทธ์หักลบกลบหนี้!
เมื่อถามถึงเคล็ด(ไม่)ลับจัดการหนี้ วิวรรณ เปิดเผยว่า หากคุณมีหนี้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้รถ หรืออื่นๆ ดังนั้น คุณจะต้องมาดูว่าดอกเบี้ยของหนี้ตัวใดน้อยที่สุด เพื่อที่คุณจะไปขอวงเงินกู้เพิ่มในส่วนนั้น เพื่มนำมาลดยอด หรือปิดหนี้อื่นๆ ที่มีดอกเบี้ยแพงกว่า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการรีไฟแนนซ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง
ส่วนสินเชื่อฉุกเฉินที่รัฐบาล หรือเหล่าสถาบันการเงินออกนโยบายช่วยเหลือ โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งคุณสามารถนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินในช่วงนี้ได้
“เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย หากท่านเตรียมตัวมาอย่างดี วางแผนการเงินดี มีความมั่นคง หรือมีเงินจากแหล่งอื่นมาบรรเทาสถานการณ์ได้ ท่านก็จะได้รับผลกระทบน้อย และไม่เจ็บตัวไปกับสถานการณ์ที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน” นางวิวรรณ ทิ้งท้าย