GC ริเริ่มโมเดลเชิงรุกร่วมกับพันธมิตรรัฐ เอกชน และประชาสังคม
สร้างโมเดลต้นแบบแรกของประเทศ
โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืนขยะเดลิเวอร์รี่
เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนครบวงจร ในพื้นที่นำร่องสุขุมวิท
จากวิกฤตโควิด-19 และการ Lockdown ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชนที่จำเป็นต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกจากกล่องอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 15% ต่อวัน (จาก 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เล็งเห็นถึงความสำคัญ และเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้หารือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และคู่ค้าของ GC เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำร่องให้เกิด Circular Hotspot บนถนนสุขุมวิท เป็นแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เชิงสาธารณะ และเป็นต้นแบบให้กับอาเซียน ในระยะฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤต โควิด-19
ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC (จีซี) กล่าวว่า “ในฐานะที่ GC เป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก และเป็นองค์กรเกียรติยศด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ GC เห็นปัญหาของขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ GC จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบนำร่องของประเทศ สร้างประโยชน์ในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำขยะรีไซเคิลมาสร้างประโยชน์ใหม่ตามหลักการบริหารจัดการของ GC นั่นคือ GC จะร่วมสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้อง โดยการร่วมสร้างจุดบริการรับฝากขยะ (Drop point) กับพันธมิตร ซึ่งการจัดการขยะนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน ด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้องจากนั้นขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกนำมาเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติกและเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ จากนั้น ผ่านโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และ อัพไซเคิล วนกลับสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับสร้างสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับอาชีพคนรับจ้างเก็บขยะ และยังเป็นการสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูงให้เกิดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“พลาสติกถือเป็นนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้ พลาสติกมีบทบาทในหลายแง่มุม ด้วยความสะดวกสบาย และยังเป็นวัสดุที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรค โดยเมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องมีการบริหารจัดการหลังการใช้ให้ถูกวิธี เพื่อให้ไม่เป็นภาระของโลก ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายจากทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราเชื่อว่าโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” นี้ จะประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบ GC พร้อมสนับสนุน โดยเป็น Total Solution Provider เดินเคียงข้างภาครัฐ และภาคีพันธมิตรเพื่อขยายผลต่อยอดในเชิงพื้นที่ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตต่อไป” ดร. คงกระพัน กล่าว