จากกองขยะสู่ร่างกาย ภัยร้าย ‘ไมโครพลาสติก’ แทรกซึมใน ปอด-เลือด-สมอง ไร้ผู้ใดรอดพ้น !
logo ข่าวอัพเดท

จากกองขยะสู่ร่างกาย ภัยร้าย ‘ไมโครพลาสติก’ แทรกซึมใน ปอด-เลือด-สมอง ไร้ผู้ใดรอดพ้น !

12,879 ครั้ง
|
20 ก.ย. 2567
ในยามที่คุณกำลังหายใจเข้าออกอย่างปกติ คุณเคยนึกบ้างไหมว่า สิ่งที่คุณสูดเข้าไปนั้นอาจไม่ใช่แค่อากาศบริสุทธิ์? แต่อาจมีอนุภาคพลาสติกขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าปะปนอยู่ด้วย
 
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการวิจัยจากประเทศบราซิล ว่าตอนนี้มีการค้นพบไมโครพลาสติกในสมองของมนุษย์แล้ว โดยที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบไมโครพลาสติกในหลาย ๆ แห่งของร่างกายมนุษย์ ทีมงานถกไม่เถียง Scoop จึงได้ลงพื้นที่สืบค้นความจริงเกี่ยวกับ "ไมโครพลาสติก" ภัยเงียบที่กำลังคุกคามสุขภาพของเราทุกคน โดยไม่มีใครรู้ตัว
 
"สามารถบอกได้ครับว่า ตอนนี้ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกมีไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายหมดแล้ว" ดร. ศีลาวุธ ดำรงศิริ จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
 
“พลาสติกชิ้นแรกของโลกเนี่ย มันถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 นะครับ จนถึงปัจจุบันนี้ พลาสติกเกิดขึ้นมาบนโลก อาจจะแค่ร้อยกว่าปีนะครับ แต่กว่ามันจะย่อยสลายชิ้นหนึ่งใช้เวลามากกว่าร้อยปีนะ เพราะอย่างนั้น เราพูดได้เลยว่า วันนี้ พลาสติกชิ้นแรกของโลกก็ยังอยู่นะครับ อาจกลายเป็นไมโครพลาสติกอยู่ในร่างกายของใครสักคนหนึ่งนี่แหล่ะ”
 
คำพูดนี้อาจฟังดูเกินจริง แต่เมื่อเราได้สืบค้นลึกลงไป พบว่ามันเป็นความจริงที่น่าสะพรึงกลัว
 
 
 
ดร. ศีลาวุธ ดำรงศิริ จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ไมโครพลาสติกคืออะไร? ทำไมมันถึงอันตราย?
 
ไมโครพลาสติก คืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร บางชิ้นเล็กจนต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู ชิ้นที่เล็กที่สุดอาจมีขนาดเพียง 1 นาโนเมตร ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 100,000 เท่า!
 
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า พลาสติก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ย่อยสลายหายไปง่าย ๆ เหมือนอาหารหรือกระดาษ แต่มันจะค่อย ๆ “แตกสลาย” จากชิ้นใหญ่ ๆ ไปชิ้นเล็กลงเรื่อย ๆ เล็กขนาดที่เรามองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นไมโครพลาสติก
 
ด้วยขนาดที่เล็กมากนี้ ทำให้ไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้อย่างง่ายดาย ทั้งทางการหายใจ การกิน และแม้แต่การดูดซึมผ่านผิวหนัง
 
เมื่อปี 2019 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้ค้นพบว่า ใน 1 สัปดาห์ มนุษย์เราได้บริโภคไมโครพลาสติกมากถึง 2,000 ชิ้นต่อสัปดาห์ คิดเป็นน้ำหนักเฉลี่ย 5 กรัม หรือก็คือน้ำหนักของ “บัตรเครดิต 1 ใบ”
 
"อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่า คนเรารับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายผ่านการหายใจมากกว่าการกินเสียอีก" ดร. ศีลาวุธเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจ
 
แต่นั่นยังไม่น่ากลัวเท่ากับสิ่งที่เราค้นพบต่อมา…
 
 
 

 

 

ไมโครพลาสติกสู่ร่างกายมนุษย์: ปาก จมูก ปอด หลอดเลือด และสมอง
 
จากการสืบค้นงานวิจัยหลาย ๆ งาน พบว่าไมโครพลาสติกได้แทรกซึมเข้าสู่เกือบทุกส่วนของร่างกายมนุษย์แล้ว ทั้งในเลือด ปอด ตับ ไต ม้าม และที่น่าตกใจที่สุดคือ... สมอง
 
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว. เปิดเผยว่า "งานวิจัยล่าสุดพบไมโครพลาสติกในสมองส่วน 'ป่องรับกลิ่น' ของมนุษย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาทในอนาคต"
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการค้นพบที่น่าวิตกกว่านั้น...
 
 
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว
 
ผลกระทบต่อสุขภาพ: จากหัวใจถึงมะเร็ง
 
งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ไมโครพลาสติกไม่ได้เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่อาจเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงหลายชนิด
 
"มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ป่วยที่มีไมโครพลาสติกในเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มี" รศ.นพ.วีระศักดิ์เปิดเผย "ไมโครพลาสติกอาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด นำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง"
 
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์ ภาวะมีบุตรยาก และความผิดปกติของระบบฮอร์โมน
 
"ที่น่ากังวลที่สุดคือ ไมโครพลาสติกอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง" รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย เพราะล่าสุดในปี 2024 จากงานวิจัยที่ได้เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ Chemosphere กลุ่มนักวิจัยค้นพบว่า “ไมโครพลาสติก สามารถทะลุผ่านเข้าไปในเซลล์ และถูกสะสมอยู่ในระดับเซลล์ได้” และเซลล์ที่มีไมโครพลาสติก จะสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งรศ.นพ.วีระศักดิ์ ก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าวันหนึ่งไมโครพลาสติกดันไปอยู่ใน “เซลล์มะเร็ง” แล้วมันแพร่กระจายตัวเร็วกว่าปกติล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
 
แหล่งกำเนิดไมโครพลาสติก…ใกล้ตัวกว่าที่คิด
 
ทีมงานถกไม่เถียง Scoop ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกในชีวิตประจำวัน และพบว่า มันอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
 
"ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราสร้างไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว" พิชามญชุ์ รักรอด (หมิว) นักรณรงค์จากกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลกับทีมงานว่า "ทั้งการแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันพลาสติก การสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเส้นใยสังเคราะห์ การใช้เขียงพลาสติกหั่นอาหารในครัว ไปจนถึงการขับรถยนต์ที่ล้อเสียดสีกับถนน ล้วนปล่อยไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม"
 
แม้แต่หน้ากากอนามัยที่เราใส่เพื่อป้องกันโรค ก็กลายเป็นแหล่งกำเนิดไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว
 
"มีงานวิจัยพบว่า การสวมหน้ากากอนามัยทำให้เราสูดไมโครพลาสติกเข้าปอดวันละหลายพันชิ้น เพราะหน้ากากทำจากเส้นใยพลาสติกที่ค่อย ๆ กร่อนจากการหายใจเข้าออก" ดร. ศีลาวุธเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจ

 

 

 

 


ไมโครพลาสติกในธรรมชาติ: จากภูเขาสู่ทะเล
 
ทีมงานได้ติดตาม "หมิว พิชามญชุ์ รักรอด” ลงพื้นที่สำรวจการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในธรรมชาติ จากยอดดอยสุเทพสู่ชายหาดบางแสน
 
"7 ปีก่อน เราแทบไม่เห็นไมโครพลาสติกบนชายหาดด้วยตาเปล่า แต่ตอนนี้ มันชัดเจนมาก ปะปนไปกับเม็ดทราย โดยไม่ต้องใช้กล้องส่อง" พิชามญชุ์เล่าด้วยน้ำเสียงเศร้า
 
ไม่เพียงแต่ทะเล แม้แต่แหล่งน้ำจืดอย่างบึงบอระเพ็ด ก็พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกทั้งในน้ำ โคลนตม และในกระเพาะของปลาในแหล่งน้ำ โดยจากข้อมูลในปี 2021 นักวิจัย Lourens J.J. Meijer เคยจัด 10 อันดับประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยก็ติดเป็นอันดับที่ 10 ในลิสต์นั้นด้วย
 
"อ่าวไทยกลายเป็น 'หลุมศพสะสมขยะ' ขนาดใหญ่ใต้ประเทศไทย" พิชามญชุ์กล่าวอย่างหดหู่
 
 
 
พิชามญชุ์ รักรอด นักรณรงค์พลาสติก และหัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก 
จากองค์กร กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand)
 
แนวทางแก้ไข: จากเสียงของประชาชนสู่นโยบาย
 
แม้สถานการณ์จะดูเลวร้าย แต่ยังมีความหวัง หลังจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน จากการพูดคุยกับนักวิจัย แพทย์ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และงานวิจัยจากหลากหลายแหล่งที่มา ทีมงานถกไม่เถียง Scoop ได้รวบรวมแนวทางแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก นำเสนอเป็นแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในการจัดการปัญหาไมโครพลาสติก ดังนี้
 
1. ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว: พกถุงผ้า ขวดน้ำส่วนตัว และปฏิเสธการใช้หลอดพลาสติก
 
2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: เช่น เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ อุปกรณ์ครัวจากไม้หรือสแตนเลส
 
3. แยกขยะอย่างถูกวิธี: เพื่อให้ขยะพลาสติกถูกนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
4. สนับสนุนระบบ "ใช้ซ้ำและหมุนวน": เช่น การคืนบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ผู้ผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
 
5. ความร่วมมือจากภาคเอกชน: ให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน
 
6. ผลักดันนโยบายภาครัฐ: สนับสนุนกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ “กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่บังคับให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวงจรชีวิต
สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลดพลาสติก เช่น ติดตั้งตู้น้ำดื่มสาธารณะ หรือจุดเติมน้ำยาทำความสะอาดแบบรีฟิล
 
"การแก้ปัญหาไมโครพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน" หมิวกล่าว "ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศที่ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง"
 
 
 
 
 
ความหวังท่ามกลางวิกฤต
 
แม้ว่าสถานการณ์ไมโครพลาสติกในประเทศไทยจะน่าเป็นห่วง แต่ก็มีสัญญาณบวกที่น่าจับตามอง
"เรากำลังเห็นการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่มากขึ้น" พิชามญชุ์เล่าด้วยรอยยิ้ม "ในตอนนี้หลาย ๆ องค์กรก็ได้มีการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” 
 
ในปัจจุบัน ตอนนี้องค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็กำลังมีการลงพื้นที่ สร้างข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ในการผลักดันนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการจัดการขยะ รวมถึงการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไป องค์กรเอกชน และภาครัฐต่อไป
 
ดร. ศีลาวุธให้ความเห็นว่า "แม้เราจะไม่สามารถกำจัดไมโครพลาสติกที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติได้ทั้งหมด แต่เราสามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของมันได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน"
 
ยังไม่สายเกินไป ถึงเวลาแห่งการลงมือทำ
 
ไมโครพลาสติกไม่ใช่ปัญหาที่ไกลตัวอีกต่อไป มันอยู่ในอากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรากิน และน้ำที่เราดื่ม ทุกวินาทีที่ผ่านไป ไมโครพลาสติกกำลังสะสมในร่างกายของเราและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ
 
“ตอนนี้ปัญหาไมโครพลาสติกมันใหญ่ แล้วก็ถือว่าเป็นวิกฤตมากนะคะ ดังนั้นหมิวก็อยากจะบอกทุก ๆคนในนามประชาชนว่า ณ วันนี้ การที่เราลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่ว่าเราสามารถมีศักยภาพมากกว่านั้น ในปัจจุบันเรามั่นใจว่าประชาชนทุกคนสามารถส่งเสียงได้ แล้วก็การส่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเรามันถูกต้องเสมอ”
 
“เพราะสุดท้ายค่ะ ที่เราทำไปในวันนี้ มันไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองเท่านั้นนะคะ แต่มันคือการทำเพื่อโลกเลยอ่ะ ทำเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ที่เขากำลังเติบโตขึ้นมา บนโลกใบนี้ค่ะ” พิชามญชุ์กล่าวกับเราอย่างมีความหวัง
 
การแก้ปัญหาไมโครพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง เราสามารถสร้างอนาคตที่ปลอดภัยกว่าให้กับลูกหลานของเราได้
ทุกการตัดสินใจ และทุกการกระทำของเรานั้นมีความหมาย และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มต้นวันนี้ยังไม่สาย เพื่ออนาคตที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้

 

ทีมถกไม่เถียง Scoop

อ้างอิง