(13 พฤษภาคม 2563) ยูนิเซฟขอประณามเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี และ 16 ปี ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ถูกครูและศิษย์เก่าผู้ต้องสงสัยข่มขืนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และควรเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการเพื่อปรับปรุงการคุ้มครองเด็กในโรงเรียนโดยด่วน
ไม่ควรมีเด็กคนใดควรต้องเผชิญกับความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด หรือสถานที่ใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน ซึ่งควรเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โรงเรียนต้องเป็นที่ ๆ เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง และเป็นที่ ๆ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ เติบโต ตลอดจนพัฒนาทักษะและความมั่นใจในการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต
หนึ่งในหน้าที่และจริยธรรมพื้นฐานที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา คือการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนทุกคน โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำในการติดตาม เฝ้าระวัง และสังเกตสัญญาณที่บ่งชี้เหตุรุนแรง การล่วงละเมิด หรือการถูกละเลยทอดทิ้ง ตลอดจนรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ครูยังมีหน้าที่ปกป้องนักเรียนจากอันตรายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงอันตรายที่กระทำโดยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันเอง
ยูนิเซฟชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการติดตามกรณีนี้อย่างจริงจัง และเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามกระบวนการจะนำไปสู่การจัดการที่เหมาะสมกับกรณีการละเมิดเด็กอย่างรุนแรงเช่นนี้ โดยยูนิเซฟจะคอยติดตามความคืบหน้าของกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง
การป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นถือเป็นบทบาทสำคัญของภาคการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบและกลไกการคุ้มครองเด็กระดับชาติ กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาทบทวนถึงประสิทธิภาพของมาตรการคุ้มครองเด็ก กลไกการเฝ้าระวัง และแนวทางการดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุรุนแรงในโรงเรียน การดำเนินการทบทวนร่วมกับองค์กรทางวิชาชีพเช่นคุรุสภา จะนำไปสู่การพัฒนาจรรยาบรรณและข้อกำหนดเชิงพฤติกรรม (code of conduct) ของวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเชิงพฤติกรรมนั้น โดยมีบทลงโทษที่เหมาะสมเมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด อีกทั้งต้องจัดให้มีช่องทางการแจ้งเหตุอย่างเป็นความลับสำหรับนักเรียนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งทุกคนควรรับทราบวิธีแจ้งเหตุตามกลไกนี้ โดยโรงเรียนควรกำหนดวิธีการส่งต่อให้กับหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมอย่างชัดเจน รวมทั้งอาจทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อจัดให้มีการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกกระทำรุนแรงและการล่วงละเมิด
กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรครู โรงเรียน สถาบันฝึกหัดครู ต้องร่วมกันเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในโรงเรียน และต้องมุ่งมั่นในการสร้างโรงเรียนให้เป็นสถานที่แห่งความหวังและโอกาส ที่ซึ่งเด็ก ๆ จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัย หลักสูตรการอบรมครูและการพัฒนาทางวิชาชีพควรต้องกำหนดให้ครูได้รับการอบรมอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เกี่ยวกับสาเหตุของการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโรงเรียน แนวทางการป้องกัน แนวทางการส่งต่อและการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย และหลักจริยธรรมของวิชาชีพครู
การดูแลเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้การปฏิรูประบบคือ การช่วยให้เด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อหนุนให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ การเผชิญความรุนแรงในวัยเด็กอาจส่งผลกระทบเชิงลบไปตลอดชีวิต ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้านการเรียนรู้ อารมณ์ และสังคม และยังนำไปสู่ปัญหาการไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน แต่หากได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เด็ก ๆ ที่เผชิญกับความรุนแรงจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชีวิตของเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย ประเทศไทยควรเพิ่มการลงทุนในการขยายฐานของผู้ให้บริการทางสังคมกลุ่มนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรง การถูกแสวงประโยชน์ การถูกทำร้าย หรือการถูกทอดทิ้ง ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที รวมถึงช่วยให้ค้นเจอเหตุความรุนแรงตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยไม่ทิ้งไว้ให้ลุกลามอย่างกรณีของจังหวัดมุกดาหาร
ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก
บทบาทของสื่อมวลชนในการปกป้องสิทธิเด็ก สื่อมวลชนต้องร่วมกันปกป้องสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นส่วนตัวของเด็ก กระบวนการทำข่าวและการรายงานข่าวต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและต้องไม่ทำร้ายหรือซ้ำเติมเด็ก ยูนิเซฟขอให้สื่อมวลชนปกป้องอัตลักษณ์ของเด็กและหยุดการขุดคุ้ยข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ตลอดจนป้องกันการแบ่งฝักฝ่ายในสังคมจากกรณีที่เกิดขึ้น ความสนใจของมวลชนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความพยายามในการดำเนินชีวิตต่อไปของเด็ก ซึ่งผลพวงดังกล่าวอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้สาธารณชนปฏิบัติเช่นเดียวกันเพื่อร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย
ยูนิเซฟเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่ในการปกป้องเด็กเหล่านี้จากผลกระทบเชิงลบที่อาจตามมาจากการดำเนินคดี ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการที่เข้มแข็งในการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายและพยาน
เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายต้องเร่งสร้างระบบคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในโรงเรียน ระบบสวัสดิการสังคม ระบบงานยุติธรรม และในชุมชนเอง
ยูนิเซฟยังคงเดินหน้าสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบคุ้มครองเด็กที่เข้มแข็ง ทั้งด้านการเฝ้าระวังและการให้ความช่วยเหลือเด็กในทุกระดับ เพื่อที่จะไม่ต้องมีเด็กคนใดตกเป็นผู้เสียหายจากความรุนแรงหรือต้องพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้อีก