จากกระแสดราม่ากรณีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งตัวแทนวิปรัฐบาล จัดงานพูดคุยถึงการทำงานร่วมกันในรัฐบาล หลังเกิดกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพบว่า มีการเปิดเมนูอาหาร หนึ่งในนั้นมีเมนูหูฉลามด้วยนั้น
ต่อมาพระเอกดัง ป้อง – ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านไอจีส่วนตัวตำหนิถึงการรับประทานเมนูหูฉลาม พร้อมทั้งพูดถึงการณรงค์ก่อนติดแฮชแท็ก #ฉลองไม่ฉลาม ไม่เพียงเท่านั้นยังกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ล่าสุดพบว่าเพจ WildAid Thailand ช่วยสัตว์ป่า ก็ได้ออกมาแสดงความคิดความเห็น พร้อมรณรงค์งดการกินหูฉลามเช่นกัน
ล่าสุดเพจ ReReef ได้นำงานงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี่ สหรัฐอเมริกา ออกมาโพสต์เผยแพร่ ที่มีพูดถึงการพบสารพิษทำลายประสาทในเมนูฉลาม โดยระบุข้อความดังนี้
"งานวิจัยพบสารพิษทำลายประสาทในเมนูฉลาม งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี่พบว่าในหูฉลามและเนื้อฉลามมีสารพิษที่มีส่วนทำลายระบบประสาทและก่อให้เกิดอาการอัลไซเมอร์ปริมาณสูงมาก นอกเหนือไปจากสารปรอทที่สูงจนน่ากลัวเช่นกัน
ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบตัวอย่างครีบและเนื้อฉลามจำนวน10 ชนิดที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกและพบว่ามีสารพิษสองกลุ่มในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์คือ ปรอท และ β-N-methylamino-L-alanine (BMAA)
"งานวิจัยบ่งชี้ว่าสารพิษตัวหลัง BMAA มีฤทธิ์ทำลายประสาท เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS" Deborah Mash ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา นักวิจัยอาวุโสในทีมกล่าว
ทั้งปรอทและ BMAA ต่างมีอันตรายในตัวเองอยู่แล้ว แต่นักวิจัยยังพบด้วยว่าการพบสารพิษทั้งสองชนิดอยู่ด้วยกันอาจเกิดปฏิกิริยาทำให้มีฤทธิ์ร้ายแรงขึ้นไปอีก
"ความที่ฉลามเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร เนื้อเยื่อของพวกมันจึงเป็นแหล่งสะสมสารพิษที่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวมันเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้นิยมบริโภคฉลามและหูฉลามอีกด้วย" Neil Hammerschlag ผู้ช่วยศาสตราจารย์และหัวหน้าทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี่เปิดเผย
ผลิตภัณฑ์จากฉลามไม่ว่าจะเป็นหูฉลาม (ครีบ) กระดูกอ่อน และเนื้อ ได้รับความนิยมในหมู่คนเอเชียบางกลุ่มโดยเฉพาะคนจีนในฐานะที่เป็นอาหารและยาแผนโบราณ แม้จะมีงานวิจัยออกมามากมายว่าไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารพิเศษแต่อย่างใด
ประมาณว่าทุกปีมีฉลามถูกฆ่าราว 100 ล้านตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเลเมื่อสัตว์ผู้ล่าสูงสุดหายไปจากระบบนิเวศ ฉลามอย่างน้อย 16% อยู่ในสถานะถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธ์
"ผลการศึกษาของเราชี้ชัดว่าคนที่กินฉลามมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท" ศาสตราจารย์ Mash กล่าวเตือน ทุกคนควรตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการบริโภคฉลาม นอกจากนี้การไม่สนับสนุนเมนูอย่างหูฉลาม เนื้อฉลาม ยังเป็นการสนับสนุนงานอนุรักษ์ และช่วยลดการคุกคามฉลาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และหลายชนิดถูกไล่ล่าจนใกล้สูญพันธุ์"
+ อ่านเพิ่มเติม