ยังมีการถกเถียงและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อความบาดเจ็บของนักมวย อันเกิดจากการใช้ “นวมเล็ก” และ “นวมใหญ่” ในการแข่งขันมวยไทย 3 ยกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ว่านวมแบบไหนทำให้นักกีฬาได้รับอันตรายมากกว่ากัน
โดยเรื่องนี้มีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้งานนวมประเภทต่าง ๆ ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจนิยามของคำว่า “นวมใหญ่” และ “นวมเล็ก” เสียก่อน
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Legends Only League และ Sweet Science of Fighting แหล่งข้อมูลออนไลน์ชื่อดังที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือของคนในแวดวงศิลปะการต่อสู้ทั่วโลก ระบุว่า
“นวมใหญ่” หมายถึง นวมสำหรับสวมใส่ในการแข่งขันกีฬามวยสากล มวยไทย และคิกบ็อกซิ่ง หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า “นวมชกมวย” ซึ่งจะมีน้ำหนักต่างกันไปตามความหนาของการบุนวมภายใน โดยมีขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 8 ออนซ์, 10 ออนซ์, และ 16 ออนซ์ โดยส่วนใหญ่ นวมขนาด 8 และ 10 ออนซ์ จะใช้ในการแข่งขันคิกบ็อกซิ่งและมวยสากล ส่วนขนาด 16 ออนซ์ จะใช้ในการฝึกซ้อมเท่านั้น
ขณะที่ “นวมเล็ก” หมายถึง นวมที่พัฒนาขึ้นจากนวมชกมวยเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) ที่มีการใช้ศิลปะการต่อสู้หลากหลายแขนงทั้งเกมยืนและเกมนอน จึงจำเป็นต้องออกแบบให้มีลักษณะเป็นนวมเปิดนิ้วและบางกว่านวมชกมวย เพื่อความคล่องตัวในการปล้ำรัดจับล็อก โดยขนาดมาตรฐานของนวม MMA อยู่ที่ 4 ออนซ์ และจะมีการบุนวมบริเวณข้อนิ้วเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีนวม MMA ขนาด 7 ออนซ์ ที่ใช้ในการฝึกซ้อมและการแข่งขันในระดับสมัครเล่นด้วย
เว็บไซต์ดังกล่าวยังได้มีการนำเสนอข้อมูลการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของนวมที่มีต่อการบาดเจ็บของนักกีฬาโดยระบุว่า
นวมที่มีขนาดใหญ่และหนากว่า จะช่วยลดโอกาสการทำให้เกิดแผลแตก หรือความเสียหายต่อผิวหนัง แต่สามารถสร้างความเสียหายต่อสมองได้ ในกรณีชกที่ศีรษะ
ด้วยความที่นวมใหญ่นั้นสามารถรองรับแรงกระแทก และป้องกันมือของผู้ออกอาวุธจากอาการบาดเจ็บได้ดีกว่า ทำให้นักมวยออกแรงชกเต็มกำลังเพื่อหวังผลให้คู่ต่อสู้ได้รับความบาดเจ็บ โดยหมัดภายใต้นวมใหญ่สามารถกระจายแรงปะทะไปในบริเวณกว้าง และสร้างความเสียหายต่อสมองของคู่ต่อสู้มากกว่า และอาจมีผลเสียต่อนักกีฬาได้ในระยะยาว
หนำซ้ำการชกที่ไม่เกิดแผลแตกหรือรอยฟกช้ำ ตลอดจนโอกาสการถูกน็อกน้อยกว่าการใช้นวมเล็ก ทำให้การแข่งขันจึงยังดำเนินต่อไป นักกีฬาถูกชกและเกิดแรงกระแทกต่อสมองจำนวนมากนับครั้งไม่ถ้วน
ขณะที่ นวม MMA อาจสร้างความเสียหายที่มองเห็นได้ชัดเจนกว่าในลักษณะของแผลแตกและรอยฟกช้ำที่ไม่ร้ายแรง จากการถูกปะทะจากนวมที่บางและแข็งกว่า และอาจมีภาพนองเลือดบนใบหน้าของนักกีฬาที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่านวม MMA นั้นอันตราย
VIDEO คลิปการทดลองการใช้นวมใหญ่และนวมเล็ก
จริง ๆ แล้วแผลแตกหรือรอยฟกช้ำที่พื้นผิวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรักษาได้ไม่ยาก ตลอดจนการน็อกที่เกิดขึ้นได้เร็วกกว่านวมใหญ่ มีโอกาสทำให้เกิดการยุติการแข่งขันอย่างรวดเร็ว โอกาสที่นักกีฬาจะถูกกระทบกระเทือนสั่งสมซ้ำ ๆ หลายครั้งที่สมองจึงน้อยกว่า ซึ่งผลกระทบที่สมองนี้อาจไม่แสดงอาการในทันที แต่ในระยะยาวจะรักษาได้ยากกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม นวม MMA มีการนำมาใช้แข่งขันในกีฬาการต่อสู้มานานหลายสิบปี แต่สำหรับนักมวยไทยอาจดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ จึงควรฝึกฝนการใช้ให้เกิดความคุ้นชิน ซึ่งการใช้นวม MMA จะทำให้นักกีฬาป้องกันตัวได้ยากกว่า จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะการป้องกันตัว การหลบหลีก และฟุตเวิร์กมากขึ้น รวมถึงการออกแรงชกที่ไม่จำเป็นต้องออกแรงมากเหมือนนวมใหญ่ เพื่อหวังผลให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ เพราะหมัดภายใต้นวมเล็กที่ออกอาวุธเข้าเป้าและแม่นยำ จะเกิดประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหยุดคู่ต่อสู้ได้ อีกทั้งยังลดการบาดเจ็บที่มือของนักกีฬาเองอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง: