ม.มหิดล เผยผลวิจัย เลือดตัวเงินตัวทอง อาจใช้รักษาโควิด - ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
logo ข่าวอัพเดท

ม.มหิดล เผยผลวิจัย เลือดตัวเงินตัวทอง อาจใช้รักษาโควิด - ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

ข่าวอัพเดท : รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มะเร็ง,เลือด,ตัวเงินตัวทอง,ม.มหิดล,ผลวิจัย,รักษา,โควิด19

7,309 ครั้ง
|
27 พ.ค. 2564
            รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิจัยสุดฮือฮา ศึกษาคุณสมบัติทางยาจากเลือด “ตัวเงินตัวทอง” หวังพิชิตมะเร็ง - โควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกของโลก
 
         วานนี้ (26 พ.ค.64) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่านายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพยายามวิจัยคุณสมบัติของเลือดตัวเงินตัวทอง เพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งและไวรัสโควิด 19 ซึ่งหากบรรลุผลตามเป้าหมายก็จะเป็นรายแรกของโลก
 
           งานวิจัยดังกล่าว มีการนำสมมุติฐานว่า ที่ผ่านมา ทำไม ตัวเงินตัวทอง ถึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต และแม้ในน้ำเน่าเสีย จึงเกิดความคิดที่จะริเริ่มศึกษาถึงระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของสัตว์เลื้อยคลานซึ่งอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว
 
           ทั้งนี้ จึงได้ทำการขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือดจากตัวเงินตัวทองที่มีลักษณะสมบูรณ์มาศึกษาทางโปรตีนในห้องปฏิบัติการ โดยใช้เลือดตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมถึงอาจต่อยอดเพื่อศึกษาการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งรวมถึงเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ได้อีกด้วย
         
           แม้ตัวเงินตัวทองกำลังใกล้สูญพันธุ์จากการถูกล่า จนได้รับการคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และล่าสุดกำลังมีการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ที่จะทำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากทำได้จะส่งผลดีต่อการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือดตัวเงินตัวทองต่อไป เนื่องจากจะมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่างตัวเงินตัวทองที่อยู่ในธรรมชาติ และที่อยู่ในระบบฟาร์ม ซึ่งจะมีการดูแลที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างจริงจังในเรื่องดังกล่าวจนถึงปลายน้ำ หากอนาคตต้องใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองการเพาะพันธุ์ในระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามาก
 
          อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ต้องพิสูจน์ให้มั่นใจได้ว่า นอกจากสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง และแบคทีเรียบางชนิดแล้ว จะไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติในร่างกายมนุษย์ ก่อนจะดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรให้แล้วเสร็จในเบื้องต้นภายในปลายปี 2564 นี้ ก่อนเดินหน้าศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านไวรัสที่ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ โดยเริ่มจากไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และโควิด-19 ต่อไป