ทำความรู้จักกับ CSR-DIW เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
logo TERO HOT SCOOP

ทำความรู้จักกับ CSR-DIW เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

20,815 ครั้ง
|
07 พ.ย. 2562

การประกอบธุรกิจใด ๆ นั้น สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องคำนึงถึงไม่ใช่เพียงแต่ผลกำไรเท่านั้น กระทั่งกระบวนคิด


การใช้นวัตกรรม รวมถึงกระบวนการผลิตต้องคำนึงชุมชนและสังคมให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจของตนนั้นส่งต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคม

 

เพื่อควบคุมให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ และแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโลก กระทรวงพาณิชย์จับมือกับกกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันผลักดันสินค้าและบริการสัญชาติไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล โดยกำหนดคุณสมบัติอย่าง CRS-DIW ที่ขีดกรอบการประเมินความสามารถด้านความรับผิดชอบต่อสังคมก่อนการสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark หรือ T Mark ที่ระบุว่า “ผู้สมัครจะต้องกรอกแบบฟอร์มประเมินตนเองด้านการดำเนินงานที่คำถึงถึงผลกระทบต่อสังคม ตามหลักเกณฑ์ CSR-DIW โดยจะต้องมีการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติของ CSR-DIW ของกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 4 ข้อ (จาก 7 ข้อ)”

 

แล้ว CRS-DIW คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ CRS-DIW ให้มากขึ้น

 

CSR-DIW คืออะไร

 

CSR-DIW ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตามเกณฑ์มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ซึ่งมีแนวคิดหลักการดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยผสานความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากการมุ่งสู่การเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว

 

CSR-DIW มีอะไรบ้าง

CSR-DIW ประกอบด้วยหัวข้อหลัก 7 ประการ ได้แก่

 

1. การกำกับดูแล ผู้ประกอบการจะต้องสร้างให้ความรู้ ความเข้าใจในเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานตามเกณฑ์มาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรมให้แก่บุคลากร พร้อมกันนี้ยังต้องมีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ สุจริตต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น คู่ค้า พนักงาน ผู้บริโภค เป็นต้น

 

2. ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจะต้องให้คำแนะนำ ให้ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีในการดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงงาน แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนากิจการอันหลีกเลี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

 

3. การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ในหัวข้อนี้ผู้ประกอบการจะต้องส่งเสริมการทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคัดค้านการทุจริตหรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายรูปแบบ

 

 4. ความรับผิดชอบผู้บริโภค ผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค แสดงความจริงใจต่อการผลิต เปิดเผยข้อมูลการผลิตอย่างเป็นจริงให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งกระบวนการทำงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้แสดงความคิดเห็น ติเตียน เพื่อนำไปพัฒนาต่อไป

 

5. การมีส่วนร่วมกับชุมชน ต้องรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และนำความเห็นหรือข้อแนะนำไปต่อยอดให้เกิดการ มีส่วนร่วมระหว่างกันในการหารือ ตัดสินใจ กำหนดนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่กิจการและชุมชนด้วย

 

6. การปฏิบัติกับแรงงาน เน้นการปฏิบัติกับพนักงานหรือแรงงานอย่างเป็นธรรม คุ้มครองด้านความปลอดภัย สุขภาพ สวัสดิการต่างๆ และค่าจ้างที่ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามหลักมาตรฐานแรงงาน เป็นต้น

 

7. สิทธิมนุษยชน ให้ความเท่าเทียมผู้ด้อยโอกาสหรือผู้พิการให้มีโอกาสในการทำงาน ซึ่งการเคารพสิทธิมนุษยชนถือเป็นรากฐานของการบริหารงาน เป็นการให้สิทธิแก่ทรัพยากรบุคคลผู้เป็นกำลังในการดำเนินงาน โดยให้การคุ้มครอง เยียวยา ให้มีสิทธิอย่างที่ควรได้

 

จะเห็นว่าหัวข้อในการประเมินทั้ง 7 ข้อ มุ่งเน้นการทำงานที่สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งแต่การให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงขอบเขตของ CSR แก่พนักงานเพื่อเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ให้ความเท่าเทียมแก่พนักงาน มีการดำเนินงานที่โปร่งใส เปิดเผยต่อผู้บริโภค ตลอดจนการแสดงออกต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชุมชน เพื่อลดผลกระทบจากการผลิตสินค้าและบริการมากที่สุด

 

กิจกรรม CSR ภายในและภายนอก

การจัดกิจกรรมภายใต้กฎเกณฑ์ของ CSR นั้น สามารถเริ่มต้นทำกิจกรรมภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคล เช่น จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะการทำงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ ปฏิบัติกับพนักงานอย่างเท่าเทียม ให้ความคุ้มครองต่าง ๆ เป็นต้น หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยวางโครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ กลยุทธ์ กระบวนการทำงานต่าง ๆ โดยยึดหลักการของ CSR มาควบคุมมุ่งเน้นเป้าหมายตามหลักการทำงานของ CSR  ลดการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ไม่จำเป็นและสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ นอกจากนั้นยังผู้ประกอบการยังสามารถจัดกิจกรรมที่สร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบตามหลักธรรมาภิบาล เมื่อมีความเข้มแข็งจากภายในแล้วจะส่งผลดีต่อการทำกิจกรรม CSR ภายนอกเพื่อสังคมอย่างแน่นอน

 

ในส่วนการทำ CSR ภายนอกนั้นคือการจัดการกับภายนอกโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การเลือกคู่ค้าหรือหุ้นส่วนต้องคิดถึงการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมด้วย การดูแลผู้บริโภคให้ข้อมูลข้อเท็จจริง รับผิดชอบต่อผู้บริโภคตั้งแต่คุณภาพ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ราคา ไปจนถึงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญการทำ CSR กับภายนอกจะขาดชุมชนไปไม่ได้เลย เพราะบางครั้งเจ้าของธุรกิจต้องพึ่งพาคนในพื้นที่ ทั้งด้านแรงงาน ความร่วมมือต่าง ๆ ดังนั้นต้องดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการร่วมมือที่ดีจากชุมชนก็ทำให้ส่งผลดีต่อกิจการนั้น ๆ อีกด้วย

 

จากหลัก CSI ทั้ง 7 ประการที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ แน่นอนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมอย่างมาก เพราะผ่านการจัดกิจกรรมที่มีประสิทธิและให้ผลต่อชุมชนและสังคมโลกอย่างชัดเจน การดำเนินกิจกรรม CSR จะทำให้ธุรกิจ ชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับโลกต่อไป ซึ่งนั่นคือการแสดงออกให้เห็นว่าผู้ประกอบการในฐานะพลเมืองโลกที่ได้แสดงจุดยืนต่อความรับผิดชอบต่อสังคมอันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
และเพิ่มผลกำไรทั้งนี้ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมของการดำเนินธุรกิจ และส่งผลต่อการสรรหา จูงใจพนักงานอีกด้วย เรียกได้ว่า CSR เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับไปอีกขั้น

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการตราสัญลักษณ์ที่รับรองคุณภาพสินค้าและบริการไทย ทีได้รับมาตรฐานสากล
มีการใช้แรงงานที่เป็นธรรม คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailndtrustmark.com หรือโทร. 02 507 8266