“นมอัลมอนด์” ทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนยุคใหม่ที่แลกมาด้วยความผันผวนทางระบบนิเวศ
logo ข่าวอัพเดท

“นมอัลมอนด์” ทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนยุคใหม่ที่แลกมาด้วยความผันผวนทางระบบนิเวศ

ข่าวอัพเดท : เทรนด์การดูแลสุขภาพที่มาแรง รวมถึงกระแส Vegan และ Plant based ทำให้นมจากพืชเป็นอีกตัวเลือกยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นแหล่งโปร นมอัลมอนด์,ฟาร์มอัลมอนด์,วิกฤตผึ้ง

41,659 ครั้ง
|
10 พ.ค. 2567

เทรนด์การดูแลสุขภาพที่มาแรง รวมถึงกระแส Vegan และ Plant based ทำให้นมจากพืชเป็นอีกตัวเลือกยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตสซึ่งพบได้ในนมวัว และยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่แพ้แลคโตสในนมวัวอีกด้วย ทำให้หลายบริษัทผลิตนมจากพืชออกมาหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด

ซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว นมจากพืชยังถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตน้อยกว่าการผลิตนมวัว อีกทั้งอุตสาหกรรมนมวัวนั้นยังใช้พื้นที่ในการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อุตหกรรมนมจากพืชเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

นมอัลมอนด์ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเพื่อสุขภาพที่นิยมรับประทานกันอย่างมาก เนื่องด้วยเหตุผลที่ดีต่อโลก เพราะการผลิตนมอัลมอนด์ 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.7 กก. แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่ากระบวนการทำฟาร์มอัลมอนด์นั้นส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด เนื่องจากการทำฟาร์มอัลมอนด์ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อผึ้ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

จากกระแสความนิยมของนมอัลมอนด์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ฟาร์มอัลมอนด์ต้องเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยการใช้สารทดแทนเกสรดอกไม้และน้ำหวาน เพื่อทำให้ผึ้งสร้างรังใหม่ในช่วงฤดูหนาว ทำให้วงจรชีวิตของผึ้งเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากต้องออกจากฤดูจำศีลก่อนเวลา ซึ่งอาจทำให้ผึ้งเหล่านี้ตายลงได้เพราะไม่สามารถหาอาหารได้ในฤดูหนาว

นอกจากนี้ยังพบว่า ในฟาร์มอัลมอนด์มักใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช โดยสารเคมีที่นิยมมากที่สุด คือ สารไกลโฟเสต ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันและการสืบพันธุ์ของพืช ทำให้จำนวนประชากรผึ้งลดลง โดยพบว่าประชากรผึ้งลดลงกว่า 30% ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

และเมื่อพิจารณาปริมาณโปรตีนในนมอัลมอนด์ พบว่าให้โปรตีนในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับนมพืชชนิดอื่น ๆ โดยให้โปรตีนเพียง 1-2 กรัมต่อแก้วเท่านั้น อีกทั้งสารไกลโฟเสตที่ถูกนำมาใช้ในฟาร์มอัลมอนด์ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อีกด้วย

ในปัจจุบันมีนมพืชอีกหลายชนิดในท้องตลาดที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมทุกประเภทนั้นต้องพึ่งพาและใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย แต่จะดีกว่าไหมหากเราเลือกรับประทานอาหารและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อให้เราได้มีทรัพยากรธรรมชาติใช้อย่างยั่งยืน

ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร , กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง