กรมอนามัย เตือน ผงชูรส กินมากแพ้ ชา ปาก-ลิ้น คนท้องไม่ควรกิน ส่งผลต่อทารกในครรภ์
logo ข่าวอัพเดท

กรมอนามัย เตือน ผงชูรส กินมากแพ้ ชา ปาก-ลิ้น คนท้องไม่ควรกิน ส่งผลต่อทารกในครรภ์

ข่าวอัพเดท : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน กินผงชูรสปริมาณมาก อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ได้ ย้ำ ผงชูรสไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เลี่ยงได้ก กรมอนามัย,กระทรวงสาธารณสุข,ผงชูรส,ส้มตำผงชูรส

3,867 ครั้ง
|
03 ก.ย. 2562
วันที่ 3 ก.ย. 62 นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึง กรณีที่มีผู้โพสต์ภาพแม่ค้าส้มตำร้านหนึ่งใส่ผงชูรสในครกที่กำลังตำเป็นจำนวนมาก และอาจจะส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภค ว่า 
 
ความนิยมในการใส่ผงชูรสในอาหาร โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นนั้น ความจริงแล้วผงชูรสมีชื่อเรียกว่า ‘โมโนโซเดียมกลูตาเมต’ ซึ่งมีส่วนประกอบของโซเดียมด้วยผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อและกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ 
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอหน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมากๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในเวลา 2 ชั่วโมง รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีก โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาดเพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ 
 
สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้กินผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้ ยังไม่รวมถึงภาวะที่ได้รับเกลือโซเดียมมากเกินไปทำให้ไตเกิดการทำงานมากขึ้นอีกด้วย
 
ทั้งนี้ แม่ค้าร้านอาหารที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหรือมีเมนูชูสุขภาพประจำร้านและใช้น้ำเคี่ยวกระดูกสัตว์ อยู่แล้ว ผงชูรสก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในการปรุงประกอบอาหาร แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ผงชูรสจริงๆ ควรใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย และควรเพิ่มความพิถีพิถันในการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสดสะอาดมีคุณค่าทางโภชนาการและการปรุงที่ถูกสุขลักษณะ 
 
หากจะใช้ให้เลือกซื้อผงชูรสโดยการสังเกตหีบห่อหรือกระป๋องบรรจุขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิ ฉลากพิมพ์เป็นตัวหนังสือภาษาไทยชัดเจน ไม่เลอะเลือน และต้องระบุชื่ออาหารแสดงคำว่า ‘ผงชูรส’ ตลอดจนมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร (อย.) ระบุชื่อที่ตั้งของผู้ผลิต เดือนปีที่ผลิต รวมทั้งน้ำหนักสุทธิอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันผงชูรสปลอม