กทม.โยนเจ้าของตลาดรอบบ้าน "ป้าทุบรถ" อุทธรณ์คำสั่งรื้อเอง ส่วนคำสั่งชดใช้เงินขอตั้งกก.พิจารณาก่อน
logo ข่าวอัพเดท

กทม.โยนเจ้าของตลาดรอบบ้าน "ป้าทุบรถ" อุทธรณ์คำสั่งรื้อเอง ส่วนคำสั่งชดใช้เงินขอตั้งกก.พิจารณาก่อน

ข่าวอัพเดท : กทม.ไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลให้รื้อตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ โยนเจ้าของตลาดอุทธรณ์เอง ส่วนคำสั่งชดใช้เงินขอตั้งกก.พิจารณาก่อนว่าจะอุทธรณ์หรือไม ข่าวป้าทุบรถ,ป้าทุบรถ,พิพากษาคดีป้าทุบรถ,ศาลตัดสินป้าทุบรถ,ข่าววันนี้

1,717 ครั้ง
|
17 พ.ค. 2561
กรณีศาลปกครองกลางพิพากษาคดีป้าทุบรถให้ผู้ว่าฯ กทม. และผอ.เขตประเวศรื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัว "แสงหยกตระการ" ภายใน 60 วัน พร้อมสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 1,473,600 บาทให้แก่ผู้ร้องทั้ง 4 และให้สอดส่องไม่ให้มีแผงลอยและการขายสินค้าบนทางเท้านั้น
 
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ปลัดกรุงเทพมหานครเปิดเผยถึงความเห็นของกรุงเทพมหานครต่อคำสั่งดังกล่าวว่า กรุงเทพมหานครเคารพคำวินิจฉัยของศาล โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาและศึกษาคำพิพากษาดังกล่าว โดยให้เวลา 10 วันเพื่อสรุปผลให้เร็วที่สุด และคณะกรรมการชุดนี้จะมีตนเป็นประธาน จะต้องถอดคำพิพากษา 100 กว่าหน้า รวมถึงข้อสรุปของคณะกรรมการสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง 
 
นายวันชัยกล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาประเด็นหลักๆ สองประเด็น ได้แก่เรื่องข้อกฎหมาย และประเด็นค่าเสียหายกว่าล้านบาท ซึ่ง กทม.มองว่าไม่น่าสูงขนาดนี้ คงต้องให้คณะกรรมการทำงานก่อนถึงจะได้ข้อสรุปว่าจะอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายหรือไม่ แต่เรื่องรื้อตลาด กทม. ไม่ขออุทธรณ์ 
 
ทั้งนี้ ถ้าจะมีการชดใข้ค่าเสียหายเกิดขึ้น แม้ศาลจะพิพากษาให้ กทม.ชดใช้ แต่หากเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ กทม. ก็จะมีการตามเก็บค่าชดใช้ดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในข่ายเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 15 ราย ในทางละเมิดและในทางอาญา โดยอาศัยฐานของกฎหมายในการพิจารณา โดยต้องพิจารณาว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มีเจ้าหน้าที่รายใดเกี่ยวข้องบ้าง และแต่ละรายต้องชดใช้เท่าใด
 
ส่วนคำถามที่ว่าจะรื้อตลาดหรือไม่ คงยังตอบไม่ได้ เพราะคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เรื่องของการรื้อตลาดนั้น กทม. เองยอมรับในคำพิพากษา แต่ในส่วนผู้ร้องสอดคือเจ้าของตลาดทั้ง 5 ตลาด กทม.ไม่ทราบว่าเจ้าของทั้ง 5 ตลาดคิดอย่างไร หากเจ้าของตลาดจะยื่นอุทธรณ์ ก็คงต้องไปร้องอุทธรณ์เอง ซึ่งไม่ทราบว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าไม่อุทธรณ์ก็เป็นไปตามคำพิพากษาซึ่งสั่งให้รื้อ ทั้งนี้ หากจะรื้อตลาด เจ้าของตลาดต้องเป็นฝ่ายรื้อเองภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทำในเวลาที่กำหนด กทม.ก็จะรื้อโดยเจ้าของตลาดต้องจ่ายค่าดำเนินการ
 
ส่วนเรื่องโทษสูงสุดที่ผู้เกี่ยวข้องแต่ละรายจะได้รับ รองปลัดกรุงเทพมหานครระบุว่าตนยังไม่เห็นสำนวนคดี ถ้าเห็นแล้วคงทราบ แต่โดยหลักแล้วมีโทษสูงสุดได้ผ่านการสอบวินัยร้ายแรง ซึ่งมีโทษถึงปลดออกหรือไล่ออก และเมื่อพิจารณาเสร็จจะเรียนเสนอผู้ว่าฯ กทม. และจะขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในประเด็นใด
 
(ภาพจาก Facebook : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.)