เผยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต "ทุจริต" ทั้ง 10 ปี บางปีทุจริต 100% พบโอนเงินย้อนหลัง-บ่อยครั้งผิดปกติ!
logo ข่าวอัพเดท

เผยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต "ทุจริต" ทั้ง 10 ปี บางปีทุจริต 100% พบโอนเงินย้อนหลัง-บ่อยครั้งผิดปกติ!

ข่าวอัพเดท : คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พบที่มาเงิน 30 ล้านบาท หลังพบมีการโอนสลับชื่อบัญชีสถานศึกษา คาดมีเงินทุ กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต,ทุจริต,กระทรวงศึกษาธิการ

2,134 ครั้ง
|
27 มี.ค. 2561
คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พบที่มาเงิน 30 ล้านบาท หลังพบมีการโอนสลับชื่อบัญชีสถานศึกษา คาดมีเงินทุจริตในจำนวนนี้ร้อยละ 40 ขณะเดียวกัน ยังพบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบการทุจริตทุกปี
 
ความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเปิดเผยว่า ตอนนี้ การสอบสวนคืบหน้าแล้วร้อยละ 70 โดยสามารถสืบทราบที่มาเงิน 30 ล้านบาท ได้ส่วนหนึ่งจากข้อมูลเพิ่มเติมในปี 2550 และ 2551 มีบัญชีปลอม 17 บัญชี และพบว่า ปี 2551 และ 2553 พบการโอนเงินกองทุนเข้าบัญชีที่เปลี่ยนชื่อสถานศึกษา จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เป็นวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี คาดการณ์ได้ว่า อาจจะมีการทุจริตเงินจากบัญชีเหล่านี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีบุคคล 22 บัญชี จึงต้องกลับมาตรวจสอบการโอนเงินอย่างละเอียดอีกครั้ง ผ่านระบบเคทีบีออนไลน์ (KTB online)
 
โดยข้อมูลส่วนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า เป็นเงินจากการทุจริตทั้งหมด 30 ล้านบาทหรือไม่ แต่ประเมินว่าน่าจะเป็นเงินทุจริตประมาณร้อยละ 40 และผู้กระทำผิดยังเป็นคนเดิม ทำให้มูลค่าการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตตอนนี้มีมากกว่า 88 ล้านบาทแน่นอน
 
นอกจากนี้ ตั้งแต่มีการตรวจสอบบัญชีเมื่อปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่าปีไหนไม่มีการทุจริต และพบว่าบางปียังมีการทุจริตเงินร้อยละ 100 คือ ไม่มีเงินถูกส่งไปยังสถานศึกษาเลย ขณะเดียวกัน ยังพบพฤติการณ์การโอนเงินย้อนหลัง และโอนเงินหลายครั้งต่อปีจนผิดสังเกต รวมแล้วทั้งหมด 36 ครั้ง จากปกติที่ต้องโอนปีละ 1 ครั้ง
 
โดยในวันที่ 29 มีนาคม 2561 นี้ ทางคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลตั้งแต่ระดับอดีตปลัดกระทรวงและคนที่อยู่ในเส้นทางการเงินกว่า 50 คน เพื่อประกอบการพิจารณา 
 
นอกจากนี้ ยังต้องประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน หรือ ปปง. ขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เส้นทางการเงินในบัญชี หรือ statement เป็นต้น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง