เช้านี้ที่หมอชิต - การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนบอกว่า อยากเห็นอนาคตประเทศว่าไปทางไหน ให้ดูที่การศึกษาของประเทศนั้น ซึ่งเมื่อวานนี้มีการไลฟ์สดมอบนโยบายแรก เรียนดี มีความสุข จาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่กลายเป็นว่า ในวันเดียวกลับเกิดเป็นพายุดรามาถาโถมโหมใส่ท่านรัฐมนตรีแบบไม่หยุดหย่อน
เริ่มตั้งแต่ไลฟ์สดการประชุมที่ไม่วายโดนชาวเน็ตจับผิดว่า เหมือนตำรวจตรวจแถวหรือคุณครูเช็กชื่อ โดยในช่องแสดงความเห็น ใครเข้ามาจะบอก ชื่อ ตำแหน่ง และสังกัดว่าอยู่ที่โรงเรียนไหน ตำบล อำเภออะไร พร้อมกับข้อความตบท้ายคล้ายกัน กำลังรับชมอยู่ คอมเมนท์แบบนี้ พรึ่บกว่า 2,000 คอมเมนต์ เป็นดรามาแรกที่ทางบ้านสงสัยว่าทำไปเพื่ออะไร ไม่มีวิธีการอื่นในการรับทราบนโยบายแล้วหรือ
ขณะที่ในส่วนเนื้อหาก็สามารถเรียกดรามาได้อีกหลายยก อย่างเรื่องหนี้ครูตามข้อความนี้ ท่านบอกว่า ให้รู้จักออม รู้จักใช้เงิน นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ผมมีปรัชญาใช้ในการแก้ปัญหาหนี้สินตำรวจ สมัยที่เคยเป็นกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินตำรวจ คือ ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย ไม่ตาย เพราะเมื่อก่อน ตำรวจชอบฆ่าตัวตาย
จากนั้นยังบอกอีกว่า ผมว่าครูก็ไม่แตกต่างกับตำรวจที่อยากฆ่าตัวตาย แต่โชคดีหน่อยที่ครูไม่มีปืนอยู่ใกล้ตัว ก็เลยไม่ฆ่าตัวตาย ไม่ฆ่าตัวตายดีแล้ว อยากฝากให้พวกเราต้องช่วยกัน แล้วก็บอกอีก ค่าใช้จ่ายเวลาไปสอน อาจจะรวมรถกันไป นั่งรถไปด้วยกัน อยู่ด้วยความพอเพียง ผมเข้าใจว่าครูอาจจะมีหน้ามีตา เช่น ครูไปงานแต่งงาน ต้องใส่ซองหลัก 100 บาท เราต้องพยายามแก้ค่านิยมเรื่องนี้ มี 20 บาท ก็ใส่ 20 บาท ไม่มีเงินไปช่วยเขาล้างจานก็มีเกียรติ ต้องเปลี่ยนค่านิยม ในการอยู่อย่างพอเพียง
หลังวิสัยทัศน์ชุดนี้แพร่ออกไป น้ำเสียงชาวเน็ตเป็นเอกฉันท์ ประมาณไหนบ้าง อย่างในเพจครูวันดี บอกว่า แถลงนโยบายเสร็จออกเลยครับ ระบบการศึกษาตกต่ำกว่าเดิม น่าเบื่อมาก ประเทศไทยเพราะนักการเมืองทำให้ประเทศไม่พัฒนา คิดแบบหัวหน้าห้องเรียนประถม คิดแบบนี้ เด็กยังคิดดีกว่าอีก อีกหน่อยครูคงตัดผมทรงตำรวจ ทหารแน่นอน 555 วิสัยทัศน์ระดับรัฐมนตรีเลยนะเนี่ย ความหวังประเทศที่จะผลิตบุคลากรคุณภาพ เห็นแสงสว่างรำไรกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การมอบนโยบายครั้งนี้ มีหนึ่งนโยบายการศึกษาที่ถูกพูดถึงมาก ก็คือกลับมาอีกครั้งของ โครงการแจก แท็บเล็ต ให้ครูและนักเรียน คนละเครื่อง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในหัวเรื่องการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะมีโครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต โดยระบุว่า การแจกเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว และตอนนี้มาเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงต้องดำเนินการให้สอดรับ
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เคยดำเนินการมาแล้วสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รู้จักกันในชื่อ One Tablet Per Child (OTPC) นำร่องแจกให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนทุกสังกัดจำนวน 856,886 เครื่อง ใช้วงเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท แต่มีดรามาตามมาในขณะนั้นว่า อาจมีการทุจริตด้วยการจัดซื้อแท็บเล็ตไม่มีคุณภาพมาหรือเปล่า เพราะเป็นของจีนและใช้ได้ไม่นานก็พัง ซึ่งจากข้อกังขาประกอบกับมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทำให้โครงการนี้พับไปนาน กระทั่งในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด ที่จำเป็นต้องเรียนที่บ้าน แต่มีนักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึงสื่อการเรียนรู้ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงเริ่มมีการพูดถึงโครงการนี้อีกครั้ง และมีการพูดถึงชัด ๆ ในการแถลงนโยบายเมื่อวานนี้ ไปฟังความรู้สึกของผู้ปกครองและนักเรียนกันหน่อยว่า คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง กับการกลับมาของโครงการแจกแท็บเล็ต
หลังการประชุม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ออกมาแถลงนโยบายด้านการศึกษากับสื่อมวลชน ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความกังวลในการบริหารจัดการกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคที่นักเรียนที่ไม่ยอมจำนน และมีการเรียกร้องสิทธิกันมาก เช่น กรณีน้องหยก ท่านตอบว่าอย่างไรบ้าง
ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อวานนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงมติที่ประชุมเกี่ยวกับการชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้อง บอส นายวรยุทธ อยู่วิทยา ในข้อหาขับรถยนต์ชน ดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 เนื่องจากมีขบวนการช่วยเหลือในการเปลี่ยนพยานหลักฐานด้านความเร็วของรถ ซึ่งมีชื่อของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวข้องในข้อกล่าวหาว่าร่วมขวนการดังกล่าวด้วย ที่ประชุม ป.ป.ช. เห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ เนื่องจากเรื่องที่มีการกล่าวหามิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ขอบคุณภาพจาก : Facebook ครูวันดีดอทคอม
ขอบคุณภาพจาก : Facebook สื่อการสอน-ครูนอกเครื่องแบบ
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35