กลุ่มการเมืองคึกคักฟังแนวทางตั้งพรรคใหม่ หลายกลุ่มถามความชัดเจนวันเลือกตั้ง
logo ข่าวอัพเดท

กลุ่มการเมืองคึกคักฟังแนวทางตั้งพรรคใหม่ หลายกลุ่มถามความชัดเจนวันเลือกตั้ง

ข่าวอัพเดท : กกต.จัดประชุมชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ตามกระบวนการของกฎหมายพรรคการเมืองและคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2 กกต.,พรรคการเมือง

3,021 ครั้ง
|
09 ก.พ. 2561
กกต.จัดประชุมชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ตามกระบวนการของกฎหมายพรรคการเมืองและคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 เพื่อให้พรรคใหม่เตรียมความก่อนจะเริ่มเปิดให้จดจัดตั้งได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2561 นี้ การประชุมครั้งนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ร่วมสังเกตการณ์ และมีว่าที่พรรคการเมืองเข้าร่วม 114 กลุ่ม อาทิ 
 
- พรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายทหารเป็นผู้จัด ตั้งแต่ยังไม่ขอเปิดตัวหัวหน้าพรรคและส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์แทน
- พรรคเพื่อชาติไทย นำโดย นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้ายของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. 
- พรรคพลังพลเมือง นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
- พรรคไทยศรีวิไลย์ นำโดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ 
- พรรคกระจายอำนาจ นำโดยนายบุญส่ง กุสุโมทย์ 
- พรรคพลังชาติไทย นำโดยนายมิตรชัย แก้วทน 
- พรรคไทยพัฒนา นำโดยนายกำจร เชาวรัตน์
- พรรคพลังไทยยุคใหม่ นำโดยนายมนัส คงสะอาด ฯลฯ
 
นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมที่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อพรรคที่จะจัดตั้งอีกจำนวนมาก โดยจากการพูดคุยมากกว่า 10 พรรค สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหากไม่สามารถโหวตจากพรรคการเมืองตามกระบวนการปกติได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อชาติไทย นำโดยนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ที่หวังจะเป็นตัวกลางเชื่อมทหารกับนักการเมือง นอกจากนี้ยังมีพรรคฅนสร้างชาติ พรรคชาติประชาธิปไตยไทยก้าวหน้า และพรรคกระจายอำนาจที่สนับสนุนด้วย
 
ด้านพันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา กล่าวว่าแม้มีว่าที่พรรคการเมืองสนใจจำนวนมาก แต่กระบวนการจัดตั้งพรรคนั้นทำได้ยากกว่าในอดีต เพราะพรรคต้องมีสมาชิกที่มีคุณสมบัติพอๆกับคุณสมบัติของ ส.ส. และต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามส่วนใหญ่ของกลุ่มการเมืองเป็นไปในส่วนของรายละเอียดการดำเนินการจัดตั้งพรรค ทั้งเรื่องเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคการเมือง และเงินบำรุงพรรค ที่หลายคนยังสับสนว่าเป็นเงินส่วนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งทาง กกต.ก็ชี้แจงว่าเงินทั้งสองส่วนเป็นคนละส่วนกัน ไม่สามารถนำเงินทุนประเดิมมาใช้เป็นเงินในการจ่ายค่าบำรุงพรรคได้ ส่วนความสงสัยเรื่องการตั้งสาขาพรรค 4 สาขานั้น ทางกกต.ชี้แจงว่าแม้ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 145 จะกำหนดว่ามีสาขาใน 1 จังหวัด ก็สามารถส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ แต่จะส่งผู้สมัครทั้งประเทศไม่ได้ แต่หากตามบทบัญญัติตามปกติพรรคที่มีความประสงค์จะส่งผู้สมัครแบบเขตทั้ง 350 เขต ก็จะต้องมีการตั้งสาขาพรรคทั้ง 350 สาขา
 
นอกจากนี้ ยังมีคำถามเรื่องการตั้งชื่อพรรคซึ่งบางคนสนใจที่จะนำเอาชื่อชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรค แต่ทางกกต.ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะการใช้ชื่อของชาติพันธุ์มาตั้งเป็นชื่อพรรคนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกของคนในสังคมขึ้นได้ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มการเมืองหลายรายเรียกร้องให้ กกต.เป็นคนประสานงานกับ คสช. เพื่อให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งแรกได้ แทนที่จะให้แต่ละพรรคต้องเป็นคนขออนุญาตเอง แต่ทาง กกต.ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆจะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยพรรคการเมืองจะต้องเป็นคนขออนุญาตเอง
 
นอกจากนั้น มีตัวแทนกลุ่มการเมืองจำนวนหนึ่งสอบถามถึงความชัดเจนเรื่องวันเวลาในการจัดการเลือกตั้ง หรือการประกาศเขตเลือกตั้ง โดยทาง กกต.ชี้แจงว่าทั้ง 2 เรื่องยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะต้องรอดูตามประกาศ คสช.ที่ 53/2560 ตามข้อ 7 ซึ่งหัวหน้าคสช.อาจจะมีการเชิญ กกต. รวมทั้งพรรคการเมืองไปให้ความเห็น ซึ่งตรงนี้เป็นโรดแมปที่แท้จริงของการเลือกตั้ง
 
อย่างไรก็ตามปัจจุบันพรรคการเมืองที่มีการจัดตั้งแล้วมีทั้งสิ้น 69 พรรคการเมือง หากมีการจัดตั้งเพิ่มอีก 114 พรรคก็จะทำให้มีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 189 พรรคการเมือง ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เชื่อว่าหากมีพรรคเพิ่มขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น