นายกรัฐมนตรี มอบโยบายขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน ใช้งบ 2 พันล้าน เริ่ม 21 ก.พ ยืนยันไม่ได้ทำเพื่อหวังให้คสช.และรัฐบาลอยู่ต่อ ส่วนอนาคตจะเลือกใครบริหารประเทศเป็นเรื่องส่วนบุคคล สั่งสนช.ไม่ได้ บ่นเป็นนายกรัฐมนตรีถูกด่าทุกวัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยบอกว่า โครงการนี้เหมือนเป็นการสร้างฝัน แต่ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน ก็จะประสบความสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้บังคับให้ทุกคนเห็นด้วย แต่ต้องหาจุดร่วมเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ไม่ใช่เพื่อให้คสช.หรือรัฐบาลอยู่ต่อ แต่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความเท่าเทียม และ เป็นธรรม เพราะรัฐบาลเป็นของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง พร้อมย้ำชุดที่จะลงพื้นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน และ แก้ปัญหาปรองดองด้วย ไม่งั้นก็จะตีกันเกิดความแตกแยกอยู่แบบนี้
ทั้งนี้ยืนยันรัฐบาลทำงานหนัก หากใครคิดว่าไม่หนักแสดงว่ายังทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นเมื่อสั่งงานไปแล้วขอให้ช่วยกันทำงานให้สำเร็จ ขณะที่อนาคตจะเลือกใครมาบริหารประเทศต่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนการพิจารณากฎหมายไม่สามารถสั่งสนช.ได้ ถ้าสั่งได้คงไม่ต้องให้ถกเถียงกันเพราะในสนช.ไม่ได้มีแต่ทหาร แต่มาจากหลายภาคส่วน แม้จะเลือกเองก็ต้องดูคุณวุฒิความเหมาะสม ไม่ใช่เลือกมาเพื่อพวกพ้อง แต่ต้องมีสัดส่วนความมั่นคง อย่างไรก็ตามในตอนท้าย ยังได้บอกกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดทำงานเป็นบ้า และโดนด่าทุกวัน ไม่รู้ทำไมคนจึงอยากเป็นนายกรัฐมนตรีกัน
สำหรับ การขับเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน จะเป็นกลไกใหม่ในการติดตามการทำงานในระดับฐานรากของทุกหน่วยงาน ที่จะลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาร่วมกันใน 10 เรื่อง คือ 1.สัญญาประชาคม , 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน , 3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข , 4.วิถีไทยพอเพียง , 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ และ รู้กฎหมาย , 6.รู้กลไกการบริหารราชการ , 7.รู้จักประชาธิปไตยไทยนิยม , 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี , 9.ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด และ 10.ภารกิจของส่วนราชการ
ทั้งนี้หลังนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบาย จากนี้จะจัดตั้งคณะทำงาน 7663 ทีม แบ่งเป็นทีมตำบล 7255 ทีม - ทีมเทศบาล 208 ทีม และ ทีม กทม. 200 ทีม แต่ละชุดมี 7-12 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ , ปราชญ์ชาวบ้าน ,นักวิชาการ และ จิตอาสาภาคประชาชน ลงพื้นที่ไปใน 878 อำเภอ 83151 หมู่บ้านทั่วประเทศ
ส่วนการทำงานแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (21 ก.พ.-20 มี.ค.61) เคาะประตูบ้านประชาชน วิเคราะห์ปัญหาเดือดร้อน และค้นหาความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาล ระยะที่ 2 (21 มี.ค.- 10 เม.ย.61) สร้างการรับรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคม 10 ข้อของ คสช. ระยะที่ 3 (11-30 เม.ย.61) สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อร่วมมือพัฒนาประชาธิปไตยไทยนิยมครั้งที่ 1 และ ระยะที่ 4 (1-20 พ.ค.61) สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อร่วมมือพัฒนาประชาธิปไตยไทยนิยมครั้งที่ 2 โดยการลงพื้นที่รวม 4 ครั้งจะใช้งบประมาณทั้งหมด 2 พันล้านบาท เป็นค่าวิทยากรและ การจัดทำเวทีประชาคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง