สำนักวิจัยต่างประเทศหลายแห่งเริ่มจับตามองไทยหลังจากที่เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าแทรกแซงค่าเงินจึงทำให้ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ของสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของสหรัฐฯ เขียนบทความแสดงความเห็นว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่เตรียมประกาศเดือนเม.ย.นี้
โดยนายแบรด ดับเบิลยู เวสเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของสหรัฐ เขียนบทความแสดงความเห็นว่า มีแนวโน้มที่ไทยอาจมีคุณสมบัติเข้าข่ายประเทศที่ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำฐานปั่นค่าเงิน หลังจากที่ผ่านมาไม่เคยมีชื่อไทยรวมอยู่ในรายงานฉบับนี้ แต่ในปีที่ผ่านมาไทยมีแนวโน้มที่จะมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับการปั่นค่าเงิน
นับเป็นเวลานานมาแล้วที่ไทยอยู่ในสถานะที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในด้านการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดและการเข้าแทรกแซงตลาดเงิน ที่รายงานอัตราแลกเปลี่ยนของกระทรวงการคลังจับตามองอยู่ แต่ที่ไม่มีชื่อติดอยู่ในรายงานเป็นเพราะสหรัฐฯ ยังไม่ได้พิจารณาว่าไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และยังไม่เข้าเงื่อนไขในข้อที่ 3 เรื่องการมีตัวเลขได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์
แต่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้วตัวเลขได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดและการเข้าแทรกแซงค่าเงินของไทยกลับพุ่งขึ้นสูงอย่างมาก และตัวเลขได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯ ช่วง 11 เดือนของปีที่แล้วนับถึงเดือนพ.ย.อยู่ที่ 19,860 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบแตะเส้นตายที่ 20,000 ล้านดอลลาร์แล้ว หากตัวเลขในเดือนธันวาคมออกมาได้เปรียบดุลการค้าอีกแค่เพียง 1,520 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ไทยมีเงื่อนไขเข้าข่ายที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นประเทศปั่นค่าเงินในทันที
อย่างไรก็ดี นายแบรดแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะหาทางกดดันและให้เวลาไทยเล็กน้อย ด้วยการใส่ชื่อไทยไว้ในประเทศที่โดนจับตามอง (วอทช์ลิสต์) ก่อนที่จะประกาศเป็นประเทศปั่นค่าเงิน
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากรณีที่ซีเอฟอาร์กล่าวหาว่าไทยมีการแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ในการเกินดุลการค้ากับสหรัฐนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายในการเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน โดยส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้าย หน่วยงานที่รับผิดชอบคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีการจับตาดูเรื่องนี้อยู่แต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างไร ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์มาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นเรื่องพื้นฐานของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับภูมิภาค ทำให้สกุลเงินต่างๆ แข็งค่ามากขึ้น โดยธปท.ก็มีข้อมูลว่าอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศ ในภูมิภาคนี้แข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ เช่น มาเลเซีย ค่าเงินก็แข็งค่ามากขึ้นในอัตราที่ มากกว่าไทย ขณะที่เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง ส่วนหนึ่งมาจากจีนที่เคยเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์ก็ชะลอการเข้าซื้อลง
"เรายินดีให้สหรัฐฯเข้ามาตรวจสอบ ทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีการเข้าไปแทรกแซง เพียงแต่มีการหารือกับผู้ว่าการธปท.ว่าให้ดูแลใกล้ชิดว่า มีความผันผวนเกินไปหรือไม่ มีอะไรที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเรื่องของการเก็งกำไรหรือไม่" นายสมคิดกล่าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าภาคธุรกิจควรใช้โอกาสนี้เร่งรัดการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักร เครื่องมือใหม่ ส่วนการชำระคืนเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศในช่วงที่เงินบาทแข็งค่านั้นเป็นนโยบายของรัฐบาล และได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า กรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าไทยอาจเข้าข่ายถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำกรณีปั่นค่าเงินดอลลาร์และอุ้มเงินบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีอะไรออกมาอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ ซึ่งตนคิดว่าเขาคงตรวจสอบเฉยๆ เขาตรวจสอบหลายประเทศไม่เฉพาะแค่ไทย กระทรวงการคลังไม่ได้กังวลอะไรกับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากต้องการรายละเอียดที่มากกว่านี้คงต้องไปถามทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดีกว่า
อนึ่ง เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างมากในปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2561 เริ่มจากที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ซึ่งในปีที่แล้ว นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ได้เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วไป