วันที่ 26 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ในวงการการศึกษาปรากฎขึ้นส่งท้ายปี เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกแนวปฏิบัติเรื่องการลดการบ้านของนักเรียน ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขต ตามคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มอบหมายให้ ศธ. หาแนวทางลดการบ้านและตั้งเป้าหมายให้ลดการบ้านลงให้ได้ทันที โดยมีแนวทาง 5 ข้อ ประกอบด้วย
"1. ให้สถานศึกษาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ครอบคลุมถึงการมอบการบ้านให้นักเรียน โดยเฉพาะครูที่สอนระดับเดียวกันต้องมีการวางแผนร่วมกัน
2. ครูแต่ละกลุ่มสาระเรียนการเรียนรู้ ต้องมีการวางแผนการให้การบ้านแบบบูรณาการร่วมกันการบ้าน 1 ชิ้นสามารถเป็นกิจกรรม/เครื่องมือในการวัดและประเมินผลร่วมกันของหลายกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้
3. คำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ทั้งจำนวนสาระการเรียนรู้ ปริมาณของการบ้าน ระยะเวลาการส่งการบ้าน ความประหยัดและคุ้มค่า รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำการบ้าน
4. เวลาที่ใช้ทำการบ้านในแต่ละวันระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้ทำการบ้านประมาณ 30 นาทีไม่เกิน 1 ชั่วโมง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ให้ทำการบ้านประมาณ 1 ชั่วโมงไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ให้ทำการบ้านไม่เกิน 2 ชั่วโมง
5. ให้ ผอ.สพท. กำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้กำชับติดตามการให้การบ้านของครูเป็นระยะตามความเหมาะสมด้วย ถือเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป"
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 เคยมีการสำรวจเวลาทำการบ้านเฉลี่ย ของนักเรียนจาก 38 ประเทศ ซึ่งสำรวจผ่านการสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งผลสำรวจที่เปิดเผยในอีก 2 ปีต่อมาชี้ว่านักเรียนไทยทำการบ้านเฉลี่ยสัปดาห์ละ 5.6 ชั่วโมง มากเป็นอันดับที่ 21 จาก 38 ประเทศ โดยประเทศที่ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ จีนแผ่นดินใหญ่ 13.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, รัสเซีย 9.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, สิงคโปร์ 9.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์, คาซัคสถาน 8.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอิตาลี 8.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ประเทศที่ใช้เวลาทำการบ้านน้อยที่สุดคือฟินแลนด์ 2.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
แม้ว่านโยบายนี้อาจจะฟังแล้วเป็นข่าวดีสำหรับเด็กๆ แต่ก็มีครูบางส่วนออกมาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง เช่น นางสุวันลา ม่วงรัตน์ ครูแนะแนวชำนาญการพิเศษ โรงเรียนลำปลายมาศพิทยาคม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาระบุหลังการเสวนาทางวิชาการที่วิทยาลัยสงฆ์ จ.บุรีรัมย์ ว่านโยบายดังกล่าวแม้เป็นเรื่องที่ดีแต่มีความละเอียดอ่อน เนื่องจากแม้ว่าบางวิชาจะสามารถทำตามนโยบายได้ แต่วิชาหนักๆ อย่างวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่จะต้องค้นคว้าและทำการบ้านมากกว่าวิชาอื่น และมีเนื้อหาเยอะ นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนได้ จึงอยากให้มีการผ่อนคลายนโยบายดังกล่าว
ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์จึงไปพูดคุยกับทั้งนักเรียน ครู และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ที่มีหน้าที่ผลิตครู ว่ามีความเห็นและมีข้อเสนอแนะอย่างไรต่อนโยบายดังกล่าว
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่งในกรุงเทพมหานครบอกกับเราว่า คำสั่งดังกล่าวเพิ่งออกมาไม่นาน เขาคาดว่าในทางปฏิบัติอาจต้องใช้เวลา ดังนั้นในระยะนี้จึงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการสั่งการบ้าน อย่างไรก็ตาม แม้ตนจะรู้สึกว่าการบ้านมีมาก แต่ตนคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบ้านเยอะ แต่อยู่ที่การบ้านวัดผลผิดจุดมากกว่า
"สมมติอย่างวิชาประวัติศาสตร์ สมมติคุณครูให้การบ้านมาว่า อ่ะ นักเรียนไปอ่านหนังสือ แล้วมาตอบคำถาม แล้วตอบแล้ว มันเป็นข้อๆ ผมมองว่าอย่างวิชาประวัติศาสตร์เนี่ย มันเป็นวิชาที่ควรมีการวิเคราะห์ มีการเขียน มีการตีความ ผมรู้สึกว่ามันยังวัดอะไรผิดจุดอยู่น่ะครับ" นักเรียนคนดังกล่าวระบุ
เขายังยอมรับว่านโยบายดังกล่าวมีประโยชน์ในการลดเวลาทำการบ้านลง แต่อยากให้พิจารณาว่าการบ้านที่ลดลงไปมีการพัฒนาคุณภาพหรือไม่ด้วย
"ผมคิดว่าเวลาทำการบ้านในเมืองไทยค่อนข้างมีผลต่อชีวิตวัยรุ่น วัยเด็ก ผมคิดว่าเราควรได้ใช้เวลาว่างช่วงเย็นไปทำสิ่งที่เราชอบ อาจจะเป็นการเรียนทักษะวิชาชีพ อย่างผมเคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมนี จะมีชั่วโมงฝึกงานสองสัปดาห์ ให้ลองสมัครงาน ฝึกงาน ทำงานกับบริษัทที่เราต้องการจะฝึกทักษะในอนาคต ก็ได้ความรู้เยอะ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะนำมาปรับใช้กับระบบการศึกษาไทยได้" นักเรียนคนดังกล่าวสรุป
ทีมข่าวพูดคุยต่อกับนายนวคุณ สาณศิลปิน ข้าราชการครูในจ.เพชรบุรี ที่ระบุว่าคุณครูในโรงเรียนก็มีพูดถึงบ้าง แต่ไม่ได้ออกมาเป็นคำสั่งเพิ่มเติมชัดเจน เพราะเคยมีการสั่งให้ลดการบ้านมาครั้งหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2556 และยังมีนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งก็จะลดการบ้านลงไปอีก
นายนวคุณกล่าวต่อไปว่า หากดูตามหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบันก็จะมีการบ้านน้อยกว่าหลักสูตรในอดีตอยู่แล้ว ซึ่งการลดการบ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องปฏิรูปปรัชญาการศึกษา วิธีคิดทางการศึกษาที่ไปรับมาจากต่างประเทศให้นำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่นเรื่องภาระงานของครู การวัดและประเมินผล มิฉะนั้นการบ้านก็คงไม่สามารถลดลงได้จริง แต่ถ้าปรับได้การบ้านจะลดลงไปเอง
ส่วนการบ้านแบบนำหลายวิชารวมกันในครั้งเดียว (บูรณาการ) จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ นายนวคุณระบุว่าในทางทฤษฎีเป็นไปได้ เพราะบางวิชาก็มีความสัมพันธ์กัน แต่ในทางปฏิบัตินั้น เรายังเน้นการศึกษาแบบเน้นการบ้าน แบบสอบแข่งขัน หรือแบบพฤติกรรมนิยม ที่บังคับว่านักเรียนต้องรู้เรื่องนี้ ตอบเรื่องนี้ได้ ดังนั้นการบูรณาการเป็นเรื่องที่ยาก
"มันก็กลับมาที่ผมพูด หากเราไม่เปลี่ยนแนวคิดทางการศึกษา ยังใช้แบบเดิมอยู่ แล้วนำของใหม่มาทับ เมืองไทยจะกลายเป็นแบบนี้ ที่เห็นว่าอะไรดีก็เอามาใส่ แต่ไม่ดูต้นตอของปัญหาว่ามันยังเป็นวิธีคิดแบบเดิมอยู่ มันก็จะคาราคาซังแบบนี้แล้วก็จะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ"
นายนวคุณยังระบุว่า สำหรับนักเรียนนั้นการบ้านเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ไม่อยากทำอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดการลอกการบ้าน ตนจึงปรับมาใช้การ "ลงเรียน" คือการทำกิจกรรมในห้อง เสร็จแล้วส่ง ตรวจสอบได้ทันที วัดและประเมินผลได้ทันที ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระการบ้านได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งลดการบ้าน สิ่งที่จะช่วยให้เด็กสนใจการบ้านได้คือรูปแบบของการบ้านที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ น่าสนใจ ดึงดูด เช่น เป็นการบ้านแบบกิจกรรม เป็นต้น แต่หากเป็นการบ้านแบบใบงาน กระดาษ ก็คงยากที่นักเรียนจะอยากทำ
"นอกจากนี้การบ้านยังถือเป็นหลักฐานที่จับต้องได้ ที่จะถูกใช้ในการประเมินผลงานเพื่อความก้าวหน้าของครู ดังนั้นหากครูเปลี่ยนไปทำกิจกรรมในรูปแบบอื่นที่ได้ความรู้คงทนกว่า แต่ไม่เห็นผลงานที่จับต้องได้ ไม่มีหลักฐานไปตั้งโต๊ะตั้งแฟ้มให้ผู้บริหารดูว่าฉันสอนนะ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับการบ้าน ดังนั้นวิธีการประเมินผลวิทยฐานะของครูก็ต้องเปลี่ยนด้วย เพราะถ้าหากจับเป็นกระดาษแบบนี้ ครูก็ทำแบบเดิม มาแข่งขัน ทำใบงาน ถ่ายรูป ทำเล่ม ได้รางวัล จบครับ ไม่ได้แก้" นายนวคุณกล่าว
ปิดท้ายที่ความเห็นจากอาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ที่ให้ข้อมูลว่า การบ้านมีหน้าที่หลักอยู่ 3 ประเภท คือ 1.) การบ้านเพื่อเตรียมความพร้อม ศึกษาล่วงหน้าก่อนเรียน, 2.) การบ้านทบทวนหลังเรียน ซึ่งมักใช้กับวิชาทักษะ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ หรือการอ่านทบทวน และ 3.) การบ้านค้นคว้าอิสระภายใต้โจทย์ที่ตกลงกัน เช่น โครงงานของเด็กประถมและมัธยม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาของการบ้านในปัจจุบันคืออะไร ผศ.อรรถพลยกตัวอย่างเช่น การบ้านที่ไม่ได้มีความหมาย ไม่สามารถประเมินผู้เรียนได้ เช่น การให้เด็กไปทำความดีแล้วถ่ายรูปมาเป็นหลักฐาน หรืองานที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างวิชา
"เพราะตอนนี้เราเจอปัญหาว่า ครูในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นครูสอนแยกตามรายวิชาแล้วไม่ค่อยมีการวางแผนร่วมกัน ทำให้ไม่ได้เห็นผู้เรียนแบบองค์รวมว่าเรียนวิชานี้ไปแล้ว ทักษะนี้ไปใช้กับวิชาอื่นยังไง หรือเรื่องของปริมาณที่มันเยอะมาก จากการที่ครูอาจจะ ต่างคนต่างสนใจวิชาตัวเอง แล้วก็สั่งการบ้านตามความเข้าใจตัวเองเนอะ หรือบางทีการบ้านก็กลายเป็นการผลักภาระ ให้เด็กไปเรียนเองที่บ้านเยอะมากโดยที่เด็กยังไม่ได้มีความรู้เรื่องนั้นมาก่อน" ผศ.อรรถพลระบุ ทั้งนี้ยังมองว่า นโยบายลดการบ้านของกระทรวงศึกษาธิการนั้นเป็นนโยบายที่ดี
"มันมีประเด็นอยู่ 4 ประเด็นในคำสั่ง ที่บอกมาเรื่องแรกก็คืออยากให้ครูที่สอนชั้นเรียนเดียวกันได้วางแผนร่วมกัน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะว่าถือว่าเป็นการเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง ชีวิตเด็กไปโรงเรียนวันหนึ่งเรียน 6 ถึง 7 วิชา ถ้าเกิดครูทุกคนต่างคนต่างสั่งการบ้าน ก็จะกลายเป็นภาระงานที่หนักมากสำหรับเด็ก
เรื่องที่สองคือ เขาระบุว่าการวางแผนร่วมกัน ขอให้คำนึงถึงการบ้านที่ หนึ่งชิ้นงานอาจจะได้สองวิชาในการประเมินผล ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องดี ทำให้เกิดการเอาทักษะวิชาหนึ่งไปใช้กับอีกวิชาหนึ่งได้ แล้วก็เรื่องที่สามก็คือเรื่องของการที่ระบุเอาไว้ว่าให้คำนึงถึงปริมาณงานที่เหมาะสมตามช่วงวัย เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยก็ต้องการเวลาในการพักผ่อน เวลาในการเล่น เวลาในการที่จะทำกิจกรรมตามความสนใจมากน้อยแตกต่างกัน
และเรื่องที่สี่ที่อาจจะเป็นประเด็นเปราะบางหน่อยคือเรื่องการกำหนดช่วงของเวลา ของประถมต้นอยู่ระหว่าง 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน ของประถมปลายนี่ 1 ชั่วโมงไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง ของเด็กโตก็ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งอันนี้คือกำหนดเป็นช่วงของเวลาซึ่งยืดหยุ่น ทำให้โรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกันสามารถออกแบบตัดสินใจได้" ผศ.อรรถพลระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีความเน้นหนักทางวิชาการต่างกัน แล้วการกำหนดกรอบเวลาในรูปแบบนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ผศ.อรรถพลระบุว่าเกณฑ์ที่กำหนดมากำหนดแค่เพดานขั้นสูงแต่ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำ ดังนั้นแต่ละโรงเรียนที่เน้นต่างกันก็สามารถปรับเข้าหากรอบนี้ได้ ส่วนเรื่องการสร้างการบ้านชิ้นเดียวแต่ทำได้หลายวิชา (บูรณาการ) นั้น ผศ.อรรถพลมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ครูทำงานร่วมกัน โดยไม่ได้หมายความว่าแต่ละวิชาต้องเลิกให้การบ้าน แต่ต้องมีการวางแผนให้การบ้านเป็นไปตามกรอบเวลา หรือถ้างานหนึ่งชิ้นออกแบบให้เป็นหลายวิชาได้ก็ทำ
ส่วนคำถามที่ว่า ปริมาณการบ้านมีผลต่อการเรียนอย่างไร ผศ.อรรถพลอธิบายว่าน้อยเกินไปก็ไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ดี แต่การกำหนดเวลาขั้นสูงไว้จะเป็นโอกาสทางบวกที่ทำให้ครูต้องมาทบทวนวิธีการวัดผลประเมินผลที่มีความหมายต่อผู้เรียนมากขึ้น และกำหนดชิ้นงานที่ไม่ปลีกย่อยจนเกินไป และถ้ามองให้เป็น นโยบายนี้จะทำให้ครูไม่ต้องเสียเวลาตรวจชิ้นงานเด็กเป็นจำนวนมากเกินไปด้วย
"ทีนี้มันอยู่ที่ว่าการออกแบบชิ้นงานมีความหมายหรือเปล่า หลายๆประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับการที่เด็กมีเวลาว่าง เพราะเชื่อว่าสมองของเด็กต้องการการพักผ่อนและต้องการให้เด็กได้ค้นพบความสนใจของตัวเอง ความถนัดของตัวเอง จากการมีเวลาว่างและใช้เวลาว่างอยู่กับเพื่อน" ผศ.อรรถพลกล่าว "ประเทศในกลุ่มเอเชียด้วยกันอย่างเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็มีปัญหาเรื่องเด็กเรียนหนักในวัยมัธยม เขาก็พยายามควบคุมเวลาทำการบ้านในโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้มีเวลาทำกิจกรรมตามความสนใจมากขึ้น"
ผศ.อรรถพลยังบอกถึงความท้าทายของนโยบายลดการบ้าน ที่ไม่ใช่แค่ลดการบ้าน แต่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กใช้เวลาที่มีมากขึ้นไปทำกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ได้
"แสดงว่าการศึกษาก็ต้องมองไปถึงชีวิตเด็กที่อยู่นอกโรงเรียน นอกบ้าน มีศูนย์กีฬา ศูนย์กิจกรรมที่เด็กจะทำกิจกรรมกับเพื่อนได้ มันก็ทำให้เด็กใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นการมีนโยบายลดเวลาทำการบ้านเป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่โจทย์ที่มันท้าทายต่อคือกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ดูแลเด็กแค่เรื่องของโรงเรียนนี่ ดูแลเรื่องของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่มันจะต้องเดินหน้าต่อไปก็คือ ส่งเสริมให้ทุกพื้นที่มีโอกาสพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เด็กจะได้เอาเวลาไปทำกิจกรรมที่มันเป็นประโยชน์ แล้วก็มีผลต่อการทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น ทำงานกับเพื่อนมากขึ้น"
ปิดท้ายที่คำถามที่ว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะเป็นเพียงแค่ "ไฟไหม้ฟาง" หรือไม่
"นโยบายนี้หากมีการชี้แจงดีๆ จะได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ปกครองและครู แต่ตอนนี้มันไม่ค่อยมีการสื่อสารรายละเอียดไง ออกมาเป็นข่าวแค่ว่าจะมีการกำหนดชั่วโมง แต่ถ้ามองลึกๆ ลงไปมันมีประโยคดีๆ เกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะการอ้างถึงงานวิจัย ซึ่งน้อยครั้งที่บ้านเราจะมีการพูดถึงว่ามาจากงานวิจัย ... แต่ปัญหาคือการไปประกาศนโยบาย ตู้ม แล้วคาดหวังให้คนทำตามโดยที่ไม่สื่อสารและไม่มีการติดตามต่อเนื่องเนี่ย ก็จะทำให้เกิดปัญหาเหมือนเดิมคือ การที่มันมาแล้วมันก็ไปตามผู้สั่ง แต่ถ้านโยบายนี้สื่อสารทำให้ครู ผู้ปกครอง ผอ.โรงเรียนเห็นว่าทำไมถึงต้องลดการบ้าน ลดการบ้านแล้วเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายยังไง นโยบายนี้ก็จะยังอยู่ได้"
"ตอนนี้ยังอาจจะมีการกำกับให้ผอ.เขตติดตามโรงเรียน แต่นี่เทอมปลาย อีกสองเดือนจะปิดเทอมแล้ว ถ้าเปิดเทอมมาแล้วไม่มีแรงส่งต่อ ก็ไม่มีการการันตีว่าจะเกิดการทำงานเชิงปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ก็เสียดาย เพราะนโยบายนี้เป็นหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจรอบสองสามปีเลยนะ เพราะเป็นนโยบายที่ผมจับเซนส์ได้เลยว่าเอาเด็กเป็นตัวตั้ง แล้วก็คำนึงถึงคุณภาพของห้องเรียนมากขึ้น มากกว่านโยบายก่อนหน้าที่มันมาๆไปๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีผลกับตัวเด็ก" ผศ.อรรถพลสรุป