ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ภาครัฐกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนยังเห็นต่างอย่างชัดเจน ด้านนักวิชาการเสนอใช้การจำคุกที่ยาวนานและไม่ลดหย่อนโทษแทนการประหารชีวิต ขณะที่ภาครัฐยืนยันหากไม่มีมาตรการอื่นทดแทนก็ยากที่จะมีรัฐบาลใดกล้ายกเลิกโทษประหาร
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ในปีนี้จัดขึ้นที่โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ ปาร์ควิว เขตปทุมวัน กทม. สาระสำคัญของการประชุมเป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ตลอดจนความเหมาะสมที่จะลงโทษประหารชีวิตแยกเป็นรายฐานความผิด และประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต โดยมุมมองจากนักวิชาการชาวต่างชาติ
โดยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตที่ทั่วโลกกำลังปรับตัว เนื่องจากการประหารชีวิตขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการมีชีวิตอยู่ รวมทั้งละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ, นักโทษประหารส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือด้อยโอกาส ทำให้ไม่มีเงินจ้างทนายความที่มีฝีมือมาแก้ต่างให้ตนเอง, ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงจะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดที่จะตัดสินได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมในทุกคดี ดังนั้นจึงอาจเกิดความผิดพลาดในการตัดสิน ซึ่งหากประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหาชีวิตมาทดแทนผู้นั้นได้ และผลวิจัยไม่พบหลักฐานว่าการประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางยับยั้งอาชญากรรมได้จริง หรือช่วยให้คนเกรงกลัวไม่กล้าทำผิดได้จริง หรือลดสถิติอาชญากรรมในสังคมได้
ผลจากการประชุมระดมความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ที่ประชุมเห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตมี 4 กลุ่ม ได้แก่ รัฐ, ผู้พิพากษา, สื่อมวลชน และผู้นำศาสนา ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เห็นพ้องกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหาร การขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับประชาชนและคนรุ่นใหม่ได้รับทราบ
ขณะที่คนในที่ประชุมอีกส่วนหนึ่งยังเห็นว่ายังคงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีบทลงโทษประหารชีวิต แต่ก็สามารถลดฐานความผิดที่ไม่จำเป็นต้องประหารชีวิตให้น้อยลง และฐานความผิดจำคุกก็ให้มีเวลาจำคุกที่เหมาะสมหรือสั่งจำคุกตลอดชีวิต ไม่ใช่เพียงลดโทษไปเรื่อยๆ รวมทั้งต้องทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย หากไม่มีโทษประหาร อาทิ การข่มขืน อาจใช้ยาฉีดเพื่อให้อัณฑะฝ่อ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโทษประหาร ควรถามสังคมเป็นหลัก เพราะสังคมและวัฒนธรรมแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน หรืออีกฝ่ายที่เห็นว่า รัฐบาลควรประกาศเป็นนโยบายยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องประชุมรับฟังความเห็นหลายๆครั้ง เพราะบางเรื่องจำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจจากผู้มีอำนาจ
และเมื่อมีการสรุปความเห็นเป็นคะแนนเสียงพบว่า ตัวแทนจากภาครัฐในที่ประชุมกว่าร้อยละ 90 ต้องการให้คงโทษประหารชีวิตไว้ ขณะที่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมและสิทธิมนุษยชนลงมติเป็นเอกฉันท์ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต
ต่อมาเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในต่างประเทศ โดยศาสตราจารย์วิลเลียม ชาบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระดับโลก ซึ่งให้ความเห็นว่า ความเชื่อที่ว่าหากไม่ประหารชีวิต จะทำให้ผู้กระทำผิดที่ได้รับการปล่อยตัวภายหลังกลับมากระทำผิดซ้ำนั้น คดีที่ไม่ใช่ฐานความผิดที่ต้องประหารชีวิตก็เกิดการกระทำผิดซ้ำได้ และการยับยั้งอาชญากรรมสามารถทำได้โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนความเชื่อที่ว่าต้องการประหารชีวิตผู้กระทำผิดเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อในคดีต่างๆ อาจไม่ถูกต้อง เพราะบางคดีเหยื่อก็ไม่ได้ต้องการให้ประหารชีวิตผู้ก่อเหตุ
ศาสตราจารย์วิลเลียมยังอธิบายว่า การโต้แย้งเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ.2491 ซึ่งประเทศไทยก็ร่วมลงนามด้วยโดยบางประเทศก็เห็นว่าควรสงวนไว้ ให้การมีโทษประหารชีวิตเป็นข้อยกเว้นสิทธิการมีชีวิตอยู่ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับ ที่ประชุมในขณะนั้นยังมีความเห็นว่าไม่ยอมรับความชอบธรรมโทษประหาร แต่ก็ไม่ควรประณามอย่างชัดแจ้งเพราะในเวลานั้นการใช้โทษประหารนั้นยังมีอยู่แพร่หลาย
ต่อมา หลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นำมาซึ่งหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ มากมาย อาทิ กติกา ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ซึ่งระบุไว้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยกำเนิดในชีวิต และไม่ควรมีมนุษย์คนไหนควรถูกพรากสิทธินั้นโดยรัฐ
กติกา ICCPR ยังระบุไว้ว่า ประเทศที่ยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหาร จะใช้ได้กับความผิดที่รุนแรงที่สุดเท่านั้น และไม่มีข้อประวิงเวลาใดๆกับการยกเลิกโทษประหาร ซึ่งศ.วิลเลียมมองว่า บางประเทศไม่ได้เข้าใจหลักการดังกล่าวเพียงพอ จึงเข้าใจว่ากติกา ICCPR อนุญาตให้มีโทษประหาร
ขณะที่ประเทศไทยได้แจ้งต่อสหประชาชาติว่ากำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโทษประหาร และใช้กับโทษประหารกับความผิดที่รุนแรงที่สุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศ.วิลเลียมมองว่า "อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด" ต้องมีความเป็นสากล ไม่ใช่รัฐภาคีกำหนดเอง เช่น การหมิ่นศาสนา การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ชอบทั้งหลาย ซึ่งแนวทางนี้ประเทศอื่นๆยอมรับ และประเทศไทยก็คงต้องยอมรับ สำหรับ "อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด" ตามความหมายของคณะกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น หมายถึงอาชญากรรมที่พรากชีวิตผู้อื่นไปนั่นเอง
ศ.วิลเลียมยังแสดงความเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการยกเลิกโทษประหารจะมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ และตนยังเชื่อว่าประเทศไทยก็จะดำเนินการไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคและทั่วโลกที่จะขับเคลื่อนไปสู่การยกเลิกโทษประหาร ส่วนประเทศที่มีความคิดจะนำโทษประหารกลับมาใช้ใหม่อย่างฟิลิปปินส์และตุรกี ตนเชื่อว่าไม่มีหนทางเลยที่จะนำกลับมาใช้ได้โดยไม่ถูกประณาม เพราะสนธิสัญญา ICCPR ไม่มีช่องให้ยกเลิกพันธสัญญาได้ ดังนั้นสหประชาชาติจะต้องส่งหนังสือไปแจ้งเตือนในกรณีดังกล่าว
ด้านตัวแทนจากภาครัฐ และตัวแทนตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์แสดงความเห็นว่า หากจะยกเลิกโทษประหารก็จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นที่เข้มข้นเท่ากันมาทดแทน อาทิ การสร้างเรือนจำความปลอดภัยสูง จำคุกอย่างต่ำ 50 ปี เพื่อให้สังคมมั่นใจในความปลอดภัย และเข้าใจในการทำงานของทางราชการ หรือการเพิ่มโทษใหม่เป็นแบบ "รอการประหารชีวิต" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ผู้ที่ถูกตัดสินได้ให้มีโอกาสแก้ต่างในกรณีที่เกิดการตัดสินผิดพลาด
ตัวแทนจากภาครัฐยังเห็นว่า หากไม่มีมาตรการที่เข้มข้นเท่ากันมาทดแทนโทษประหารชีวิต จะไม่มีรัฐบาลใดที่กล้าดำเนินการในเรื่องนี้ โดยจะเลี่ยงไปใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการศึกษาไปเรื่อยๆ และโทษประหารชีวิตก็จะยังคงมีอยู่เรื่อยไปเช่นกัน
ขณะที่นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ยืนยันเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารดังกล่าว แต่ระบุว่าต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโทษประหารต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง กระทรวงยุติธรรมได้เสนอข้อเสนอที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วตั้งแต่ปี 2559 ประกอบด้วย ระยะแรก เป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มดุลพินิจของศาลที่จะลงโทษด้วยวิธีอื่นได้ในฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว และระยะต่อไปจะมีการศึกษาการยกเลิกโทษประหารชีวิตในบางฐานความผิดที่ไม่ได้สัดส่วนหรือไม่กระทบต่อชีวิตบุคคลอื่น