ความเป็นมา 'พระเมรุมาศ' สถาปัตยกรรมในอดีตจน ถึง งานพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙
logo ข่าวอัพเดท

ความเป็นมา 'พระเมรุมาศ' สถาปัตยกรรมในอดีตจน ถึง งานพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

15,726 ครั้ง
|
04 ต.ค. 2560
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑-๔) จะยึดหลักการสร้างแบบพระเมรุมาศตามตำราโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าทุกประการ คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ ๒ ชั้น คือ พระเมรุเอก (ด้านนอก) และพระเมรุมาศ (ด้านใน) พระเมรุชั้นนอก (พระเมรุเอก) ที่ทำเป็นพระเมรุปราสาทยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไปในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง และภายในประดิษฐานพระเมรุมาศอีกทีหนึ่ง
 
สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ถือได้ว่า เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี คือ เป็นพระเมรุ ๒ ชั้น คือ พระเมรุเอก (ด้านนอก) และพระเมรุมาศ (ด้านใน)
 
และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ เป็นต้นมา ลักษณะของพระเมรุมาศเหลือเพียงพระเมรุชั้นเดียว คือ "พระเมรุมาศ" และได้ถอดเอาพระเมรุใหญ่ทรงปราสาทยอดปรางค์ คือ "พระเมรุเอก" ซึ่งเป็นพระเมรุทรงปรางค์ที่คลุมอยู่ภายนอกออกไป คงไว้เพียงพระเมรุทอง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "พระเมรุมาศ" 
 
และในสมัยนั้นประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ทั้งชาวไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องตามสมัย การสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่โต ทรงเห็นว่าการสร้างแบบเดิมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีขนาดเล็กลงและประหยัดขึ้น โดยมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า
 
"...แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพของผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะฉะนั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป..."
 
อันเนื่องจากพระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น สำหรับพระเมรุมาศของพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคงสร้างเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทสืบต่อมา แต่ลดรูปแบบ เป็นเครื่องยอดต่างๆ เช่น ยอดปรางค์ ยอดมงกุฏ ยอดมณฑป ยอดฉัตร โดยไม่มีพระเมรุภายใน
 
และในบางกรณีที่เจ้านาย พระราชวงศ์ชั้นสูงและผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน บางพระองค์มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุแต่ละครั้งมีขั้นตอน การตระเตรียมยุ่งยากหลายประการ จึงมีการอนุโลมโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการถวายพระเพลิงบนพระเมรุเดียวกันบ้าง หรือให้สร้างพระเมรุน้อยอยู่ใกล้พระเมรุใหญ่ หรือมีเมรุบริวารอยู่ในปริมณฑล ในงานพระราชพิธีเดียวกัน อาจเรียกงานออกเมรุนี้ว่า เมรุตามเสด็จ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมศิลปากรได้ออกแบบพระเมรุมาศโดยเป็นทรงบุษบก ๙ ยอด ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะใช้พระเมรุทรงบุษบกเท่านั้น ในการนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสสริยยศในขณะนั้น) โปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาในการจัดสร้างพระเมรุมาศ โดยพระเมรุมาศออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการเป็นผู้ออกแบบหลัก และมีนายสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ เป็นผู้ช่วย เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง ๕๐.๔๙ เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น ๕๓ เมตร) มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี ๓ ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ ๙ ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก ๘ ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ ศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ พร้อมกับมีการขุดสระอโนดาตขึ้นมาจริง ๆ
 
ภาพแรก คือ แบบสันนิษฐานพระเมรุเอกแบบแผนของกรุงศรีอยุธยา
 
ภาพที่ ๒ คือ ภาพตัดขวางแสดงแบบสันนิษฐานพระเมรุเอกแบบแผนของกรุงศรีอยุธยา
ภายในประดิษฐานพระเมรุมาศ
 
 
ภาพที่ ๓ คือ พระเมรุมาศทรงบุษบก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
 
 
ภาพที่ ๔ คือ พระเมรุทรงปราสาทยอดปรางค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
 
ภาพที่ ๕ คือ พระเมรุมาศทรงบุษบก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
 
 
 
ขอบคุณที่มาจาก เพจ โบราณนานมา