ทนายสงกานต์พากลุ่มผู้เสียหายถูกหลอกแต่งงานเชิดสินสอด เข้าร้องกองปราบ หลังพบมูลค่าความเสียหายต่อรายมากตั้งแต่ 1-4 แสนบาท และมีผู้เสียหายกว่า 13 รายในขณะนี้
นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พาผู้เสียหายจำนวน 13 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจเอกสุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บังคับการกองปราบปราม หลังกลุ่มผู้เสียหายทั้งหมด ถูกนางสาวจริยาภรณ์ บัวใหญ่ หลอกแต่งงานก่อนจะเชิดเงินค่าสินสอดหลบหนี โดยมูลค่าความเสียหายต่อคนละประมาณ 1-5 แสนบาท
โดยนายไพรัตน์ พึ่งสุข หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหาย ระบุว่า ส่วนตัวได้ติดต่อพูดคุยกับนางสาวจริยาภรณ์ หรือน้ำมนต์ ที่ขณะนั้นอ้างว่าชื่อ นางสาวสร้อยเพ็ชร พาลีวัลย์ ได้ 2 เดือน ก่อนจะตกลงแต่งงานกันโดยพ่อแม่ฝ่ายหญิง เรียกเงินสินสอด 2.8 แสนบาท แต่ฝ่ายหญิงช่วยเหลือเงินสินสอด 1 แสนบาท จึงได้ทำการโอนค่าสินสอดไป 1.8 แสนบาท พร้อมพี่สาวได้ร่วมลงทุนวางเงินมัดจำแผงผลไม้ 1.2 แสนบาท และเมื่อแต่งงานแล้วนางสาวน้ำมนต์ยังได้นำรถยนต์กระบะไปอีกคัน ก่อนจะหายไปไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งส่วนตัวอยากได้ทรัพย์สินคืน และขออย่าได้ทำกับคนอื่นอีก
นายสงกานต์ ระบุว่า สำหรับคดีนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจะพบว่าผู้ก่อเหตุคือนางสาวจริยาภรณ์ บัวใหญ่ โดยจะอ้างตัวต่อครอบครัวฝ่ายชายว่ามีครอบครัวมีธุรกิจขายผลไม้ในหลายจังหวัด และต้องการให้ครอบครัวฝ่ายชายร่วมลงทุนในธุรกิจ และจะใช้เวลาในการติดต่อพูดคุยในแต่ละรายประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะตกลงเรื่องสินสอดและโอนค่าสินสอดให้กับฝ่ายหญิงที่ขณะนั้นอ้างตัวว่าชื่อนางสาวสร้อยเพ็ชร พาลีวัลย์ ซึ่งสาเหตุที่ครอบครัวฝ่ายชายเชื่อส่วนมากเพราะมีการพาบุคคลที่อ้างว่าเป็นพ่อแม่ที่ต่อมาทราบชื่อคือนายบุญเลี้ยง บัวใหญ่ และนางสำรอง บัวใหญ่ ไปด้วยทุกครั้ง ทำให้การติดต่อเจรจาทุกครั้งทั้งเรื่องสินสอดและเรื่องธุรกิจเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในส่วนของพ่อแม่นางสาวน้ำมนต์ขณะนี้เชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเดินทางไปร่วมงานแต่งด้วยทุกครั้ง ซึ่งต่อจากนี้จะเตรียมแจ้งข้อหานางสาวจริยาภรณ์ บัวใหญ่ หรือน้ำมนต์, นายบุญเลี้ยง บัวใหญ่, นางสำรอง บัวใหญ่ และเจ้าของบัญชีชื่อนางสาวสร้อยเพ็ชร พาลีวัลย์ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ผู้อื่นโดยอ้างตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องตรวจสอบอีกด้วยว่านางสาวสร้อยเพ็ชรมีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดหรือไม่ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการนำเอกสารนางสาวสร้อยเพ็ชรมาทำการเปิดบัญชีโดยแอบอ้าง ก็จะเพิ่มข้อหาปลอมแปลงเอกสารทางราชการเพิ่มแก่กลุ่มผู้ต้องหาด้วย
ซึ่งล่าสุด ทราบว่ามีผู้เสียหายรายล่าสุดเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เสม็ด เพิ่มเติม ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมดไว้ ก่อนจะส่งฝ่ายสืบสวนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและติดตามหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
สำหรับคดีนี้เท่าที่มีการเรียงลำดับข้อมูลมูลค่าความเสียหายล่าสุดมีดังนี้ ผู้เสียหายคนที่ 1 ปี 2554 ยังไม่ทราบมูลค่าการเสียเงิน, ผู้เสียหายคนที่ 2 ถูกหลอกไปแต่งงานที่คาซารูน่า บางพระ จังหวัดชลบุรี โดนหลอกเงินสินสอด 1 แสน และหลอกร่วมทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ 4 แสนบาท ช่วงปี 2555, ผู้เสียหายคนที่ 3 ถูกหลอกเงินค่าสินสอด 4 แสนบาท เกิดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558, ผู้เสียหายคนที่ 4 ถูกหลอกแต่งงานที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 ถูกหลอกสินสอดประมาณ 5 แสนบาท, ผู้เสียหายคนที่ 5 นายวิพล บัวสุวรรณ ถูกหลอกแต่งงานที่จังหวัดยโสธร เมื่อปี 2560 หลอกสินสอด 6 แสนบาท พี่สาวถูกหลอกทำธุรกิจผลไม้ 1.6 แสนบาท
ผู้เสียหายคนที่ 6 ถูกหลอกแต่งงานเมื่อมกราคม 2560 ถูกหลอกสินสอด 2 แสนบาท ทองคำ 1 บาท โดยสำหรับเคสนี้ เมื่อผู้เสียหายทราบว่านางสาวน้ำมนต์ไปแต่งงานกับนายเอ (นามสมมติ) จึงได้ติดต่อผ่านเฟสบุ๊คเพื่อสอบถามและต่อว่าผ่านทางนางสาวขนิษฐา (สงวนนามสกุล) น้องสาวของนายเอ แต่น้ำมนต์ให้เหตุผลว่าที่เลือกนายเอเพราะให้สินสอดมากกว่า, ผู้เสียหายคนที่ 7 คือนายเอ (ที่ถูกต่อว่าจากผู้เสียหายรายที่ 6) ถูกหลอกแต่งงานที่จังหวัดปทุมธานี หลอกค่าสินสอด 4 แสนบาท, ผู้เสียหายคนที่ 8 ถูกหลอกแต่งงานที่จังหวัดปทุมธานี เสียงเงินสินสอด 1.8 แสนบาท รถยนต์กระบะ 1 คัน เงินมัดจำค่าแผงขายผลไม้ 1.2 แสนบาท, ผู้เสียหายคนที่ 9 ถูกหลอกสินสอด 1 แสนบาท ทอง 2 บาท ถูกหลอกแต่งงานช่วงเดือนสิงหาคม 2560 และยังมีผู้เสียหายรายอื่นอีกที่รอสำรวจความเสียหายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+ อ่านเพิ่มเติม