สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการสื่อออนไลน์ของไทย เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญเจ้าของเพจ Facebook ชื่อดังและ Youtuber ที่มีคนติดตามมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศเข้าหารือที่สำนักงาน กสทช.
ผู้เข้าร่วมประชุมหลายรายบอกกับทีมข่าวว่า วงประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้น หาก กสทช. ต้องการจะลงมากำกับดูแลสื่อแพร่ภาพและกระจายเสียง ที่ไม่ได้ใช้คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ออกอากาศ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Over The Top (OTT)” สื่อในกลุ่มนี้ก็เช่น ทีวีดิจิตอลที่นำไปแพร่ภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์, วิดีโอบน Youtube ที่มีผู้ติดตามมากๆ บริการ IPTV หรือแม้กระทั่งบริการ iFlix และ Netflix เพื่อกำกับไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อาทิ การทำ Facebook ไลฟ์อนาจาร, การโฆษณาเล่นพนัน เป็นต้น
แต่วงประชุมนี้กลับยังมีข้อคาใจ ผู้ร่วมประชุมบางคนชี้ว่า กสทช.ยังไม่มีแนวทางกำกับดูแลที่ชัดเจน และพวกเขากังวลว่า เรื่องนี้อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารบนสื่อออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นต่อเนื่องที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน คือความพยายามนำเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Facebook และ Youtube ให้ “เข้ามาอยู่ในระบบ” ตามกฎหมายไทยเพื่อกำกับดูแล ซึ่งยังคงมีคำถามถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติว่าจะทำได้อย่างไร และจะกระทบกับประชาชนมากน้อยเพียงใด
คำถามเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่ของทีมข่าวออนไลน์ บีอีซี-เทโรในสัปดาห์นี้ เราจะพูดคุย ถามทุกข้อสงสัย เคลียร์ทุกประเด็นปัญหากับทั้งผู้อยู่ในวงประชุม นักวิชาการ และคนต้นเรื่องอย่าง กสทช.
-----------------------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าว : เป้าหมายของการเข้ามากำกับดูแลสื่อ OTT คืออะไร
พ.อ.นที : เนื่องจากพฤติกรรมการรับชมวิทยุโทรทัศน์เปลี่ยนไป ไม่ได้อยู่แค่หน้าจอทีวี แต่ยังชมบนช่องทางออนไลน์ได้ ฉะนั้น กสทช.จึงต้องเข้าไปกำกับดูแลสื่อประเภท OTT นี้ไม่ต่างกับสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ทั่วไป
เราใช้พฤติกรรมการให้บริการเป็นสำคัญ จะบริการทีวีบนอินเตอร์เน็ต มือถือ หรืออะไรก็ตาม ถ้าธรรมชาติมันเหมือนวิทยุ โทรทัศน์ ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ตจะเป็นแบบนั้น เอาเฉพาะกรณีแพร่ภาพ-เสียง ซึ่งเราจะสร้างกระบวนการให้กระทบภาคส่วนต่างๆ น้อยที่สุด
ผู้สื่อข่าว : แล้วสื่อกลุ่มนี้ต้อง “ดัง” ขนาดไหนถึงจะต้องถูกกำกับ
พ.อ.นที : ถ้าเราพยายามสร้างนิยามที่มันชัดเจน ผมคิดว่ามันต้องไปกันอีกยาว เราเอาเฉพาะกรณีที่ชี้ไปปั๊บ ถูกต้องเป๊ะ อย่างผู้ประกอบการโทรทัศน์ วิทยุรายเดิมที่ไปใช้พื้นที่ OTT ด้วย อันนั้นแน่นอน เขาเป็นแน่ ส่วนที่สองคือกลุ่มรายใหม่ ที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันและมีผู้ติดตามจำนวนมากๆ เวลาส่งอะไรไปมุ่งเพื่อสาธารณะ คนจำนวนมาก มีคนดูเป็นแสนเป็นล้าน หรือมีผลกระทบต่อสาธารณะ สมมติว่ามีใครส่งข้อความที่ทำให้สังคมสับสน และคนได้รับเป็นล้านๆ เกิดความเสียหายขึ้นจริงๆ อันนี้จำเป็นจะต้องเข้าข่าย
ผู้สื่อข่าว : บางทีเพจ Facebook ดังๆ ก็ลงข้อความตัวอักษร แต่ไม่มีภาพ-เสียง จะถูกหมายรวมด้วยหรือไม่
พ.อ.นที : ส่วนใหญ่อาจจะเป็นข้อความ แต่วันดีคืนดีก็มีภาพและเสียงมา ก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ถ้าแค่พูดคุยกันก็อาจจะไม่เข้าหลัก เรามีกำลังจำกัด ตรงไหนไม่มีปัญหาเราก็ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งกับเขามาก
ผู้สื่อข่าว : “การกำกับ” ที่กสทช.จะดำเนินการจะอยู่ในรูปแบบใด
พ.อ.นที : ใช้มาตรการเดียวกับวิทยุ-โทรทัศน์ในปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่ประชาชนเห็นว่าไม่เหมาะสมก็เข้าสู่การรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณา ถ้าไม่มีผลกระทบอย่างเฉียบพลันทันทีก็เข้าสู่กระบวนการนี้ แต่ถ้ามีผลกระทบทันที กรรมการก็สั่งระงับไว้ก่อนได้ เช่นการ Facebook ไลฟ์ฆ่าตัวตาย ก็ต้องคุยกับแพลตฟอร์ม
ผู้สื่อข่าว : เนื้อหาแบบไหนที่ กสทช. จะเข้าไปดูแล และจะกระทบเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะเรื่องการเมืองหรือไม่
พ.อ.นที : มีหลายอย่าง เช่น การโฆษณาชวนคนไปเล่นการพนัน การค้าบริการทางเพศ การขายยาผิดกฎหมาย เยอะแยะไปหมด ที่เป็นกติกาต้องห้ามในกิจการนี้ แต่กรณีที่เราทำ เราไม่มีประเด็นทางการเมือง เราเป็นองค์กรอิสระ จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งประเทศเราจะอยู่ในภาวะที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ผู้สื่อข่าว : ถ้าสั่งระงับเนื้อหาได้ ก็คือไม่ต้องขอหมายศาลเหมือนที่ก.ดิจิตอลฯขอเพื่อสั่งปิดเว็บไซต์ใช่หรือไม่
พ.อ.นที : ระบบของเราจะไม่เหมือนกับระบบศาล ระบบของเราคือสั่งก่อน แล้วถ้าคนที่ถูกสั่งคิดว่าคำสั่งของเราไม่ถูกก็ไปร้องกับศาล เพราะความผิดตามกฎหมายประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เนี่ย มันออกคำสั่งทางปกครองได้ ก็คือระงับความเสียหายต่อสาธารณะไว้ก่อน
ส่วนอำนาจในการสั่งปิดของกระทรวงดิจิตอลฯ มันเกิดเมื่อเรากระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ความผิดของฝั่ง กสทช. คือสิ่งที่คุณทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ก็ยังอยู่ แต่มันถูกแพร่ภาพและเสียงไปสู่สาธารณะในวงกว้างอีก ฉะนั้นมันเป็นสองกระทง
ผู้สื่อข่าว : ถ้าจะมีการสั่งระงับเนื้อหา แล้ว กสทช.ได้พูดคุยกับ Facebook หรือ Youtube แล้วหรือยัง เพราะเว็บไซต์กลุ่มนี้ก็ถูกใช้ลงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้
พ.อ.นที : ผมยังไม่คุย ผมคิดว่าเมื่อถึงเวลาแล้วเขาก็มาคุยเอง ถ้าคุยในลักษณะที่เราไม่มีน้ำหนัก ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องคุย (ถาม : เราไม่มีน้ำหนักเพราะอะไร?) เราไม่มีน้ำหนักเพราะเขายังไม่เห็นว่าเราจะส่งผลกระทบอะไรกับเขา เขามองว่าเราทำอะไรเขาไม่ได้
สิ่งสำคัญก็คือเขาต้องเข้าสู่กระบวนการ ถ้าเขาไม่เข้า ผมก็ชัดเจนว่าจะต้องเอาเขาเข้าสู่กระบวนการให้ได้ อาจจะไม่ต้องถึงจดทะเบียน แต่ต้องมีออฟฟิศ มีตัวตน มีหลักแหล่งชัดเจน มีผู้บริหารพูดจาภาษาไทยรู้เรื่อง (ถาม : ที่ กสทช.ต้องการให้เขาเข้าระบบเกี่ยวกับเงินภาษีหรือรายได้ที่จะเข้าประเทศหรือเปล่า?) ผมไม่มีวาระเฉพาะเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่หน้าที่ แค่ถ้าเขามีตัวตน จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามกรอบของกฎหมายปกติ
เขาทำธุรกิจในประเทศเรา กฎหมายเราเป็นยังไง เขาก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่มีแต่รายได้จากไทย แต่ไม่ต้องการปฏิบัติตาม แล้วสิ่งที่ออกมาจากบริการของคุณทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ แบบนี้ไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าว : แล้วหากแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ยอมมา “เข้าสู่ระบบ” ของประเทศไทยจะทำอย่างไร
พ.อ.นที : เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็ถามว่า ผมจะไปปิด Facebook รึเปล่า ผมก็บอกว่า Facebook Youtube เนี่ยเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ว่า Facebook หรือ Youtube ก็มีสองส่วน ส่วนแรกคือการให้บริการ อันนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพประชาชน เป็นสิ่งที่ดีและผมจะไม่ไปยุ่งเป็นอันขาด แต่ประการที่สองคือการทำธุรกิจ เขาก็มีรายได้ถูกมั้ยครับ แต่คุณจะทำธุรกิจลำบากแน่ ถ้าคุณไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าสู่กระบวนการ (ถาม : มีมาตรการหรือยัง?) มาตรการคิดไว้แล้ว แต่เป็นความลับ
ผู้สื่อข่าว : ทราบมาว่ากสทช. ก็มีแนวคิดให้เจ้าของสื่อ OTT เข้าสู่ระบบโดยการขึ้นทะเบียน จริงหรือไม่
พ.อ.นที : อาจจะไม่ใช้คำว่าขึ้นทะเบียน เบื้องต้นเราแค่ต้องการข้อมูลว่าคุณเป็นใคร เพราะถ้าเราปฏิบัติกับคุณอย่างผู้ให้บริการวิทยุโทรทัศน์ คุณจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เกิดอะไรเราต้องติดต่อคุณได้ก่อนว่าอันนี้ไม่ถูกนะ อันนี้เบื้องต้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการกฎหมาย 100% แต่เป็นการแจ้งให้ กสทช. ทราบ
ในอนาคตกรณีที่เราไม่รู้ว่าใครทำเนื้อหา พอแพลตฟอร์มเข้าสู่กระบวนการแล้วเกิดความเสียหาย สิ่งแรกที่เราทำคือแจ้งแพลตฟอร์มยุติการเผยแพร่เนื้อหานั้น แต่ถ้าเป็นกรณีรู้ว่าใครทำและมีผู้ติดตามมากๆ อาจจะบอกเจ้าตัวโดยตรงเลยว่าเฮ้ย มันเกิดแบบนี้ขึ้นนะ คุณต้องแก้ไข อาจจะแก้โดยไม่ต้องแจ้งแพลตฟอร์มก็ได้
ผู้สื่อข่าว : ในอนาคต กสทช. จะมีบทลงโทษทางกฎหมายถ้ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมหลุดออกไปหรือไม่
พ.อ.นที : ผมคิดว่าพอทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วก็ต้องมีกระบวนการทางปกครองใช้แยกคนที่ถูกต้องกับไม่ถูกต้องออกจากกัน วันนี้เราแทบไม่มีกระบวนการอะไรเลยที่จะบอกว่าอันนี้ได้-ไม่ได้ อันนี้ถูกต้อง-ไม่ถูกต้อง
-----------------------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าว : จ่าพิชิตเห็นด้วยกับการกำกับดูแลในลักษณะนี้หรือไม่
จ่าพิชิต : ถ้าเป็น OTT จริงๆ ก็คงต้องมีการดูแล แต่ในวงประชุมมันหลุดกรอบ OTT ไปไกลมาก จริงๆ ที่ควรจะดูแลก็พวก iFlix, Netflix, หรือพวกที่มีการถ่ายทอดสดต่างๆ ในโซเชียล จริงๆแล้วกรอบมันควรจะเป็นอยู่แค่นั้น แต่อันนี้เขาตีความกว้างมาก
ผู้สื่อข่าว : ที่บอกว่าตีความไปกว้างมาก กว้างที่สุดที่จ่าได้ยินจากวงประชุมคืออะไร
จ่าพิชิต : ที่ไกลที่สุดที่ได้ยินก็คือเขาอยู่ระหว่างตีความ Personal Use (การใช้งานส่วนตัว) อย่างการไลฟ์มันจะมีการไลฟ์ในรูปแบบสื่อ รายการ แชนแนลต่างๆ อันนี้มีผลกระทบกับสังคมแน่นอน กับอีกประเภทคือคนทั่วๆไปใช้ส่วนตัว ไม่ใช่เป็นสื่อ แต่มาไลฟ์แก้ผ้า ฆ่าตัวตาย มันจะอยู่ในการควบคุมอันนี้ด้วยรึเปล่า
ผู้สื่อข่าว : ในวงประชุมมีการพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก เช่น การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐ หรือประเด็นการเมืองหรือไม่
จ่าพิชิต : ในวงประชุมก็มีพูดเรื่องนี้ กสทช.ยืนยันว่าจะไม่ควบคุมเรื่องเนื้อหา จะส่งเสริมเสรีภาพในการพูดเต็มที่ แต่จะพยายามลงไปดูเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่อันนี้ก็พูดยากนะ ใครจะเป็นคนนิยามคำว่าเนื้อหาที่ดี-ที่ไม่ดี ถ้าอิงตามกฎของสื่อโซเชียลหรือตามกฎหมายก็จะดีมากกว่า
อย่าง Facebook เวลามีคลิปไม่เหมาะสมก็จะมีปุ่มรีพอร์ตอยู่แล้วแต่มันไม่เวิร์กในไทย ซึ่งน่าจะมีปัญหาหลายอย่าง อันนี้ผมคิดเอาเอง เช่น อัลกอริทึมไม่ดีพอ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นของไทยมีไม่มากพอ หรือถ้าเป็นต่างประเทศ มีคนไลฟ์ฆ่าตัวตาย นอกจากจะลบแล้วยังมีระบบติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลือด้วย ซึ่งฟังก์ชันนี้ก็ยังไม่มีในเมืองไทย ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสื่อโซเชียลกับภาครัฐ ถ้าเปลี่ยนใหม่จากควบคุม เป็นการหาความร่วมมือ อันนั้นเป็นไปได้มากกว่า
ส่วนเรื่องการเมืองก็อาจจะกระทบ แต่ที่เขาเชิญมาคุยก็ไม่ค่อยมีใครเกี่ยวกับการเมืองนะ กระทั่งเพจของค่ายบัวขาวซึ่งเป็นเรื่องกีฬาก็เชิญมา ก็ไม่น่าเกี่ยวกับการเมือง แต่น่าจะเป็นการหาแนวร่วมจากเพจที่มีคนติดตามเยอะๆ มากกว่า
ผู้สื่อข่าว : แสดงว่าทิศทางที่จ่าเห็นว่าควรจะทำคือ เปลี่ยนเป็นการเสริมอะไรบางอย่างเพื่อป้องกันปัญหา?
จ่าพิชิต : ใช่ คือไม่ใช่การเข้าไปครอบงำควบคุมเนื้อหา แต่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ เข้าไปพัฒนาเครื่องมือจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แล้วให้ประชาชนดูแลกันเองจะดีกว่า
เวลามีไลฟ์แก้ผ้า คนก็แจ้งรีพอร์ตรัวๆ แต่หาฟังก์ชันที่ไปจัดการตรงนั้นก็ไม่มี แจ้งหน่วยงานรัฐถ้าไม่เป็นข่าวดังๆ บางทีก็ไม่มีการขยับ สาวเต้นจ้ำบ๊ะโฆษณาพนันบอลใน Facebook มีมานานมากแล้ว แต่ก็ไม่มีใครขยับอะไรจนกระทั่งเป็นข่าวลงสื่อถึงจะมีคนขยับมีการดำเนินคดี อันนี้ถ้ามันเป็นต่อไปมันก็ไม่เวิร์กน่ะ
ผู้สื่อข่าว : ฟังก์ชันนี้ควรเป็นหน้าที่ของใคร แพลตฟอร์มหรือหน่วยงานรัฐ
จ่าพิชิต : ทั้งหมดแหละ แพลตฟอร์มก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วยในระดับนึง เพราะเค้ามาหากินในบ้านเรา ก็ต้องมีเครื่องมืออะไรบางอย่างในการรีพอร์ตเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่ Facebook เองปัจจุบันก็ไม่ได้มีแค่ไลฟ์ไม่เหมาะสม แต่ยังเป็นตลาดขายของผิดกฎหมายที่ใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาเถื่อน อาวุธสงคราม ยาเสพติด ซื้อขายได้หมดใน Facebook บ้านเรา
ผู้สื่อข่าว : จ่ายังมีสิ่งคาใจ สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากถาม กสทช.ไหม
จ่าพิชิต : ถ้าจะคุมเนื้อหาไม่เหมาะสม ไปคุยกับ Facebook ก่อนดีกว่ามั้ย หรือเปลี่ยนวิธีเข้าหา Facebook จากการควบคุมเป็นประสานงานร่วมมือกันดีกว่ามั้ย ที่ผ่านมาเวลาหน่วยงานรัฐพยายามเข้าหา Facebook เนี่ย มันจะไม่ใช่ในทางประสานงานร่วมกัน แต่เป็นแนวเข้าไปควบคุมเขา ซึ่ง Facebook ก็ไม่น่ายอมหรอก
-----------------------------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าว : คุณธามมองเรื่องการแสดงตัวตนในลักษณะที่ กสทช. กำลังมีแนวคิดอยู่นี้ว่าอย่างไรบ้าง
ธาม : การเรียกผู้ประกอบการมาลงทะเบียน OTT เป็นสิทธิ์ที่ กสทช. ทำได้ มันคล้ายๆ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เลย คือต้องมีผู้รับผิดรับชอบ ถ้าเปรียบเป็นหนังสือพิมพ์ก็คือมีผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แต่ต้องดูว่าอันนี้คือแค่จดแจ้ง หรือลงทะเบียนแล้วมีผล มีนัยทางกฎหมายหรือมีโทษทางปกครอง เพราะ กสทช.อาจจะไม่ได้มีอำนาจลงโทษทางปกครองกับเพจเหล่านี้
ถ้ามันเป็นการจดทะเบียนเฉยๆ ก็เป็นเรื่องความสมัครใจ แต่ถ้า กสทช. คิดจะบีบว่าใครไม่จดจะเข้าใช้บัญชีนั้นไม่ได้เนี่ย ผมคิดว่า กสทช.น่าจะไปคุยกันในระดับนโยบายกับ Facebook ก่อน แต่ถึงที่สุด ถ้า กสทช.ยืนยันว่าจะต้องจด มันจะถึงจุดแตกหักซึ่งหลายๆ ประเทศเจอแล้ว Facebook ก็จะบอกว่าเขามีนโยบายที่เป็นมาตรฐาน มีผู้ใช้ระดับทั่วโลก ถ้า กสทช.บอกว่าจะต้องจด กสทช.ถามประชาชนในประเทศแล้วหรือยัง
ผู้สื่อข่าว : การกำกับดูแลจะกระทบสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเรื่องทางการเมืองหรือไม่
ธาม : มีโอกาส เพราะเวลาเราวิพากษ์วิจารณ์การเมือง กลุ่มสื่อ คอลัมนิสต์ก็วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ ประชาชนก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้นหาก กสทช.ไปสั่งปิดเพจโน้นเพจนี้เอง มันจะยุ่ง เพราะอย่าลืมว่า Facebook จะปิดให้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งศาล และศาลจะไม่สั่งปิดซี้ซั้ว มันต้องพิสูจน์ได้ว่ามันผิดกฎหมายจริงๆ
ผู้สื่อข่าว : มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการที่ กสทช. เรียกคนทำเพจหรือ Youtuber ดังๆในบ้านเรามารวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Youtube อาจารย์วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้แค่ไหน
ธาม : จริงๆ ในต่างประเทศก็มีการรวมตัวกันนะ ทำได้ แต่ที่สุดก็ต้องเข้าใจนโยบายแพลตฟอร์ม จะปิดไม่ปิดเขาใช้หลักการในการพิจารณา คุณไปกดดันก็แค่เหมือนกดรีพอร์ต แต่สุดท้ายเขาก็มีนโยบายและข้อกำหนดทางกฎหมาย และกฎหมายเขาก็ใช้กฎหมายอเมริกา แต่ถ้าศาลประเทศต่างๆแจ้งไปพร้อมเหตุผล เค้าอาจจะพิจารณาปิดก็ได้ ดังนั้น การรวมตัวกันทำได้ แต่ให้ผลในระดับที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ผมตอบว่าไม่
-----------------------------------------------------------------------------------
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนหนึ่งจากคนในแวดวงสื่อ ซึ่งล่าสุดหลังวงประชุมรับฟังความเห็น มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แล้ว และคงมีการแถลงมติในเร็ววัน คงต้องรอติดตามว่า กสทช. จะดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป และจะกระทบกับคนทำสื่อหรือผู้บริโภคสื่ออย่างเราๆ มากน้อยเพียงใด.