ดีเอสไอแจงเหตุมีผู้เสียชีวิตรายที่ 2 หลังใช้ ม.44 คุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ชี้หากพระธัมมชโยมอบตัวแต่แรกไม่เกิดเหตุแบบนี้
logo ข่าวอัพเดท

ดีเอสไอแจงเหตุมีผู้เสียชีวิตรายที่ 2 หลังใช้ ม.44 คุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย ชี้หากพระธัมมชโยมอบตัวแต่แรกไม่เกิดเหตุแบบนี้

14,249 ครั้ง
|
01 มี.ค. 2560
     เมื่อเวลา 17.00 น.  พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงชี้แจงกรณีมีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 หลังประกาศพื้นที่ควบคุม วัดพระธรรมกาย โดยใช้มาตรา 44 ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
 
      พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตภายในวัดพระธรรมกาย และมีการขึ้นโซเชียลมีเดีย โดยบอกว่า เรื่องนี้เกิดจากการดำเนินการประกาศมาตรา 44 แล้วเสียชีวิต เป็นศพที่ 2 ตนเองมีความเห็นอีกมุมคือ พระธัมมชโยต้องคิดว่าเป็นเพราะตัวเองไม่ยอมมาเข้ากระบวนการทางกฎหมายหรือเปล่า ไม่ใช่ไปมองถึงว่ามาตรา 44 ประกาศไปแล้วจึงทำให้มีคนตาย ส่วนการดำเนินการกรณีมีผู้เสียชีวิต พนักงานสอบสวนได้รวบรวมข้อมูลจากคนใกล้เคียง แล้วสอบถามญาติรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทราบชื่อ นางสาวพัฒนา เพียงแรง อายุ 48 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดพะเยา เป็นเภสัชกร และอยู่ในวัดมานาน มีน้องชายบวชอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย ประกอบกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหายใจและภูมิแพ้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุจึงรีบเข้าไปช่วยเหลือซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปพบว่าเจ้าเสียชีวิตไปก่อนแล้ว 
 
     โดยรายละเอียดการดำเนินการ ผู้ที่รับแจ้งเหตุซึ่งเป็นชุดแรก คือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนและตำรวจทหาร ซึ่งอยู่บริเวณคลองแอล โดยมีหญิงจำนวน 2 คนมาร้องขอความช่วยเหลือ ว่ามีคนเจ็บป่วยซึ่งในขณะนั้นเป็นเวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่จึงพาไปที่ประตู 7 เพื่อแจ้งทางศูนย์ช่วยเหลือแพทย์ฉุกเฉินที่ประจำอยู่ในจุดนั้น ซึ่งในเวลาเดียวกันทางศูนย์แพทย์ฉุกเฉินก็ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลปทุมธานีเช่นเดียวกัน ในเวลา 12.10 น. ให้ไปช่วยเหลือคนป่วยซึ่งผู้แจ้งในขณะนั้นชื่อ หมวย ซึ่งอยู่ที่พักเดียวกับผู้เสียชีวิต และหลังจากรับแจ้งเหตุก็ได้ประสาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้เดินทางเข้าไปภายในวัดเมื่อเวลา 12.20 น. ถึงบริเวณที่เกิดเหตุเป็นอาคารที่อยู่นอกวัด ซึ่งอาคารนี้เข้าไปค่อนข้างยากเนื่องจากประตูด้านหน้าล็อคกุญแจไว้ ถ้าไม่ใช่คนภายในก็จะเข้าไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาเดินทางจากประตู 7 จนไปถึงอาคารที่เกิดเหตุใช้เวลา 10-15 นาที เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่ได้เตรียมอุปกรณ์กู้ชีพ โดยต้องเดินขึ้นไปชั้น 4 ประตูของผู้ป่วยถูกล็อค เจ้าหน้าที่ถึงต้องทำลายประตู ซึ่งแพทย์ที่เข้าไปช่วยเหลือยืนยันว่าผู้ป่วยเสียชีวิตไปก่อนแล้วในช่วงเวลานั้น คาดว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 12.00-12.30 น. 
 
     ต่อมาพระมหานพพร ปุญฺญชโย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้มาแจ้งเหตุในเวลา 13.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดแรกได้ไปถึงแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่พร้อมพระมหานพพรไปยังที่เกิดเหตุ ซึ่งขอยืนยันว่าในขณะที่พระมหานพพรมาแจ้ง เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ชุดแรกได้ไปถึงในที่เกิดเหตุแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดแรกได้พบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วจึงได้แจ้งพนักงานสอบสวน ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงเป็นชุดหลังสุดที่เดินทางไปยังที่เกิดเหตุในเวลา 14.00 น. 
 
     ทั้งนี้ ตลอดการดำเนินการ ไม่มีการกักกันรถในการช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น ซึ่งรถที่เข้าไปมี 2 ส่วนคือชุดแรกเป็นรถของกู้ภัยและชุดที่ 2 เป็นชุดที่เดินทางเข้าไปพร้อมพระมหานพพร ซึ่งเป็นชุดหลังจากที่ชุดแรกไปถึงแล้ว ส่วนชุดที่ 3 คือชุดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการดำเนินการในส่วนนี้เราก็พยายามหาข้อเท็จจริงเพื่อชี้แจงให้กับประชาชนทราบ โดยฝ่ายที่อยู่วัดธรรมกายก็จะให้ข้อเท็จจริงที่เบี่ยงเบนประเด็น โดยมองว่าในเรื่องของการดำเนินการมาตรา 44 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 ศพ แต่ไม่ได้กลับไปดูตัวเองเลยว่าเหตุที่เกิดขึ้น หากพระธัมมชโยมามอบตัวเองเหตุการณ์ทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้น
 
     ส่วนกรณีของนายอัยย์ เพชรทอง ได้มีการเชิญตัวมายัง กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 โดยแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากมีการกระทำผิดที่ต่อเนื่องหลายวันที่ผ่านมา และในวันนี้พบว่ามีการกระทำผิดซึ่งหน้า และยังมีอีกหลายคนที่เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการจับกุมเพื่อดำเนินคดี โดยมีจำนวนอีกประมาณ 20 คน ทั้งนี้แนวทางในการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างชัดเจน ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่ห้ามแล้วยังไม่เชื่อฟัง ก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน มีโทษตามกฎหมายจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติเมื่อพบว่ามีการทำความผิดอยู่ ถือว่าเป็นการทำความผิดซึ่งหน้า สามารถที่จะดำเนินการจับกุมได้ทันที ส่วนในกรณีที่ไม่ได้ตัว เช่นพบมีการกระทำความผิดกรณีที่ออกไปนอกพื้นที่ ก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อกล่าวโทษกับผู้กระทำความผิด โดยพนักงานสอบสวนในพื้นที่ร่วมดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อ เมื่อมีหมายเรียกไปแล้วไม่มา ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอน ออกหมายจับเพื่อมาดำเนินคดี ในส่วนของการโพสข้อความที่เป็นเท็จทางโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่ก็ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะดำเนินคดีต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง