ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามมติบอร์ดค่าจ้าง ในอัตราไม่เท่ากัน 5-10 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมปี 2560
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง โดยอัตราใหม่จะปรับไม่เท่ากันเฉลี่ย 5-10 บาท ในพื้นที่ 69 จังหวัด ซึ่งได้นำ 10 ปัจจัยมาคำนวน อาทิ ดัชนีค่าครองชีพ ,อัตราเงินเฟ้อ ,ต้นทุนการผลิต ตลอดจนศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่คงอัตราเดิม 300 บาท จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
2.ปรับขึ้น 5 บาท จำนวน 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย
3.ปรับขึ้น 8 บาท จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา
และ 4.ปรับขึ้น 10 บาท จำนวน 7 จังหวัด ได้ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุม ขอให้หน่วยงานต่างๆ ดูแลควบคุมราคาสินค้าหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่การปรับเพิ่ม 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม2556 ดังนั้นจึงหวังให้ภาคแรงงาน ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีพตามสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยอัตราใหม่ที่ปรับขึ้นนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560
+ อ่านเพิ่มเติม