พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา ในด้านความขยันหมั่นเพียร เอาจริงเอาจังฝึกฝนจนสามารถเล่นกีฬาได้ดีในหลากหลายประเภท
นอกจากจะเคยได้เหรียญทองในการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง หรือก็คือซีเกมส์ในปัจจุบันแล้ว "แบดมินตัน" คือ อีกหนึ่งกีฬาที่ทรงโปรดเป็นอย่างมาก ทรงสามารถวิเคราะห์วิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกได้อย่างลึกซึ้ง และยังนำมาพัฒนาการเล่นของพระองค์เองได้อีกด้วย
นอกจากนี้ด้วยความเชี่ยวชาญของพระองค์ ยังถึงขั้นสามารถพระราชทานข้อชี้แนะถึงเทคนิคการเล่นให้แก่นักแบดมินตันไทย
ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน หนึ่งในนักแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของวงการแบดมินตันโลก ที่เคยถวายการเล่นอยู่หลายครั้ง กล่าวว่า พระองค์ท่านทรงซักถามรายละเอียดมากมาย แม้จะทรงแบดมินตันได้ดีมากอยู่แล้ว เมื่อลูกแบดมินตันกระทบพระวรกาย พระองค์ก็ไม่ทรงถือสา ทั้งยังเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวตน และเสวยร่วมกันราวกับสามัญชน
ศ.เจริญเคยเขียนในบทความ “บรมครูแห่งแบดมินตัน” ในหนังสือ “ราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ” ว่า “ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านรับสั่งถามว่า หนักใจไหมที่เล่นกับเออร์แลนด์ คอปส์ และที่หนักใจนั้น หนักใจในการเล่นแบบไหนของคอปส์ จำได้ว่ากราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่า เออร์แลนด์ คอปส์ มีลูกตบที่รุนแรง ส่วนมากที่เสียแต้มให้คอปส์เป็นเพราะรับลูกตบที่หนักหน่วงไม่ได้ ทั้งยังอึดและอดทน พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า ‘เมื่อคอปส์มีลูกตบที่หนักและรุนแรง สิ่งที่ควรจะทำคือ หลีกเลี่ยงอย่าให้คอปส์ตบลูกได้บ่อย หรือใช้ลูกตบได้ถนัด ควรดึงคอปส์มาเล่นลูกหน้าให้มาก เมื่อเขาพะวงบริเวณหน้าตาข่าย จะทำให้เขาถอยตบลูกไม่ถนัด’ และนั่นคือกลยุทธ์ที่ใช้ปราบมือแชมเปี้ยนโลกชาวเดนมาร์กผู้นี้ ในการป้องกันตำแหน่งแชมเปี้ยนชายเดี่ยวออล-มาลายัน ที่เกาะสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ.2502”
เมื่อ พ.ศ.2555 สหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์สูงสุด “เพรสซิเดนท์ เมดัล” ซึ่งเป็นเพียงพระองค์เดียวในโลกที่ได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากปี 2493 ที่ก่อตั้งสมาคมแบดมินตันฯ ในปี 2500 ทีมแบดมินตันไทยเข้าไปถึงระดับแชมเปี้ยนโซนเอเชีย และเข้าไปชิงชนะเลิศโลกในปี พ.ศ.2502 และ 2505
ด้วยความสนพระทัยส่วนตัว และทรงศึกษาเทคนิคต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว พระองค์ผู้มีสายตากว้างไกล จึงทรงมองเห็นถึงทรงศักยภาพของคนไทย ทรงมีพระราชดำริว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาที่เหมาะกับคนไทยและสามารถไปสู่ระดับโลกได้ เนื่องจากไม่เสียเปรียบด้านรูปร่างเมื่อแข่งกับชาวต่างชาติที่ตัวสูงใหญ่กว่า จึงทรงให้การอุปถัมภ์จนพาแบดมินตันไทยสู่เวทีโลก และประสบความสำเร็จเช่นในทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวงการแบดมินตันของประเทศไทย
+ อ่านเพิ่มเติม