พระราชนิพนธ์เรื่องแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือเรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน "วงวรรณคดี" ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นตอนแรก โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ซึ่่งในสมัยนั้นถือได้ว่าหนังสือวงวรรณคดี จัดว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าอย่างมาก
"เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" เป็นพระราชนิพนธ์รูปแบบบันทึกประจำวันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2489 - 22 สิงหาคม พ.ศ.2489 โดยทรงบันทึกความทรงจำและพรรณนาความรู้สึกของพระองค์ผ่านพระอักษรเป็นเรื่องราวการเดินทางที่สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์
ทั้งนี้ขอน้อมอัญเชิญพระราชนิพนธ์ "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" ฉบับตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489 - วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2489 มาให้ประชาชนชาวไทยได้อ่านกันอีกครั้ง ดังนี้
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบิน รถวิ่ง ๒๐ นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ข้างทางและตามประตู พวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ๆ กับที่นอน และเขาทำกันอย่างนี้ ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ในย่านการค้าเช่นนั้น!
ประชาชนพลเมืองเหล่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น สีของเสื้อผ้านั้นขาวหรือก็คงต้องเป็นสีขาวมาก่อน ที่มาแลเห็นเป็นสีเทาไปมากกว่าสีขาวนั้น ก็เพราะระคนปนไปกับฝุ่น นอกจากนี้ยังได้เห็นวัวศักดิ์สิทธิ์เดินท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามท้องถนนหลวง จะไปไหนมาไหนไม่มีใครกล้าจะขับไล่ ไม่ว่าจะเกิดหิวขึ้นมาเมื่อไร พบร้านขายผัก ก็เดินเข้าไปเลือกกินได้ตามใจชอบ ส่วนเจ้าของร้านนั้น เมื่อวัวเข้าไปก็ถือว่าเป็นมงคล…
ถึงสนามบินเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา และออกบินในทันทีที่มาถึง เครื่องบินบ่ายหัวตรงไปสู่ท้องทะเลด้วยอัตราความเร็ว ๓๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง จนสามารถมองเห็นเรือหาปลาเล็กๆ ในท้องทะเลได้ถนัด ทั้งๆ ที่บินอยู่สูงถึง ๒,๕๐๐ เมตร ข้าพเจ้าชอบเดินไปที่ๆ นักบินขับบ่อยๆ และนั่งลงข้างๆ ตรงที่นั่งของนักบินสำรอง ช่างมีเครื่องบังคับหลายอย่างเสียจริงๆ บังคับปีก บังคับใบพัด เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และอื่นๆ อีกมาก ในตอนต้นๆ ออกจะงงๆ แต่นักบินเป็นคนที่สุภาพมาก ได้พยายามชี้แจงให้เข้าถึงเครื่องทุกๆ ส่วนที่มีอยู่
ที่ข้อมือนักบิน สังเกตเห็นว่าผูกนาฬิกาไว้ถึงสองเรือน เรือนหนึ่ง ๖ นาฬิกา อีกเรือนหนึ่ง ๔ นาฬิกา แต่ของเราเองเป็น ๙.๓๐ นาฬิกา เขาอธิบายให้เข้าใจว่า ๔ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรีนิช (Greenich) ๖ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรุงไคโรที่เรากำลังจะไป และ ๙.๓๐ นาฬิกานั้นเป็นเวลาที่การาจี เราจะไปไคโรจึงเลื่อนเข็มถอยหลังกลับไปสามชั่วโมงครึ่ง
ราวๆ เที่ยงเราบินอยู่เหนือทะเลทรายอาหรับ มีหลุมอากาศหลายแห่ง ฝรั่งเรียกว่า "bumps" เป็นลมสูงขึ้น เกิดจากความร้อนของทรายจากเบื้องล่างที่ถูกพระอาทิตย์แผดเผา หลุมอากาศเหล่านี้มีอยู่ตลอดทาง กระทั่งผ่านพ้นเขตต์ของทะเลทรายนั้นไป คือราว ๑๔.๓๐ นาฬิกา การผ่านหลุมอากาศวับๆ หวำๆ เช่นนี้ไม่มีความสบายเลย และความไม่สบายใจที่ทวีขึ้นเมื่อพวกประจำเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า หากเราจำเป็นต้องร่อนลงยังท้องทะเลทรายนี้แล้ว ออกจะน่าวิตกอยู่มาก ที่ชาวพื้นเมืองเบื้องล่างนี้ มิค่อยจะเป็นมิตรที่ดีของคนแปลกหน้านัก
ล่วงไปอีกชั่วโมงหนึ่งก็ผ่านคลองสุเอซ กำลังมีเรือแล่นเข้าคลอง มีเรือรบขนาดหนักลำหนึ่งจอดอยู่ที่นั่น ขนาดของเรือลำนี้เห็นจะหนักกว่าเรือศรีอยุธยา ประมาณ ๑๖ เท่า แม้กระนั้นมองดูช่างเล็กเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลและความเวิ้งว้างของทะเลทรายอันมหึมานั้น
เรามาถึงสนามบินอัลมาซ่า (Almaza) ใกล้ๆ กับกรุงไคโร หลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา ๑๑ ชั่วโมง ๔๕ นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบินด้วยหลุมอากาศ และด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำเอาเรางงไปหมด…
เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่ง และได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญ ในตอนเย็นสมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุคได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร นอกประตูของห้องเรา มีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา
กรุงไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสมัยใหม่ แต่เบื้องหลังของตึกเหล่านี้ มีบ้านกระจอกงอกง่อยอยู่เป็นอันมาก บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนจน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และสัตว์อื่นๆ อีกตามถนน รถรางก็เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดห้อยโหนกันจนไม่มีที่ว่าง และล้วนแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปุปะไม่มีชิ้นดี เป็นผู้ชายทั้งนั้นเกือบไม่มีผู้หญิงปะปนอยู่ด้วยเลย คล้ายๆ กับที่การาจีอยู่มาก ผู้คนหลับอย่างแสนสบายตามสนามหญ้าข้างถนน รถยนต์มีมาก แต่เป็นรถรับจ้างที่ขับกันอย่างเร็วปรื๋อโดยมาก
วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙
คืนนี้สบายดีแท้ ถ้าไม่คำนึงถึงเสียงที่มาจากโรงหนังใกล้ๆ ที่พัก กินอาหารเช้าแล้วก็ออกเดินทางไปสนามบินด้วยรถยนต์ สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค มาส่งและเชิญพระพรให้เดินทางโดยสวัสดีของพระองค์มาประทาน…ข้าพเจ้าตอบขอบพระราชหฤทัยและขอให้นำความไปทูลขอให้ทรงพระเจริญสุข กับขออำนวยพรให้ประชาชนพลเมืองของพระองค์มีความสุขสำราญด้วย
รอบๆ เครื่องบินมีตำรวจอียิปต์รักษาการณ์อยู่อย่างกวดขันยิ่งนัก เวลา ๘.๑๕ นาฬิกา เริ่มออกเดินทาง ต่อมาอีก ๔๐ นาที ก็ผ่านเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าใหญ่ที่สุดของอียิปต์ วันนี้ต้องบินถึง ๙ ชั่วโมง กับ ๕๐ นาที จะถึงกรุงเจนีวาราวๆ ๑๗.๐๕ นาฬิกา
ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อสามวันที่แล้ว เรายังอยู่เมืองไทย และวันนี้เราจะถึงสวิทเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตรกว่า…เวลากว่า ๑๕.๐๐ นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง และช้าไปกว่ากำหนด ๑๕ นาที เมื่อเวลา ๑๖ นาฬิกา ช้ามากขึ้นอีกเป็น ๔๕ นาที เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่างๆ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะซารดิเนียและคอร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ ๑๖.๔๐ นาฬิกา เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้น เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว…จากขอบฟ้าสลัวๆ ที่บดบังด้วยเมฆหมอก แลเห็นเมืองๆ หนึ่งอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองนั้นๆ คือ เมืองเจนีวา อันเป็นที่หมายปลายทางที่เรามาด้วยเครื่องบิน และเราจะต้องจากพวกประจำเรือไป คนประจำเครื่องบินเหล่านี้เป็นคนที่ดีต่อเรามาก ได้ให้เครื่องถมเป็นที่ระลึก บินอยู่รอบเมืองรอบหนึ่งแล้วก็ร่อนลงสู่พื้นดินเมื่อเวลา ๑๗.๕๕ นาฬิกา
อธิบดีกรมพิธีการแห่งรัฐบาลสวิสได้มารับรองในนามของรัฐบาล และแนะนำให้รู้จักกับบรรดาข้าราชการที่มารับนักเรียนไทย อัครราชทูตไทย และข้าราชการไทยก็พากันมารับด้วย รัฐบาลสวิสจัดรถยนต์ไว้ส่งเราถึงเมืองโลซานซึ่งอยู่ห่างจากเจนีวาไปราว ๖๐ กิโลเมตร
อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย อธิบดีกรมพิธีการได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมา โดยคิดว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้เป็นอย่างดีเพราะอยู่ที่นี่มาถึง ๑๔ ปีเศษแล้ว เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้ แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไป ได้ทราบต่อมาว่า เขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของชาวตะวันออกและพระพุทธศาสนาด้วย
พอถึง "วิลลาวัฒนา" เขาก็ลากลับ อำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อท่านประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย
เรากลับถึงโลซานแล้ว…ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเข้าเรียนต่อไป…
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช
สามารถอ่าน พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรม บันทึกประจำวันของพ่อ "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์" ตอนก่อนหน้าได้ที่นี่