หอการค้า คาดเปิดเทอมเงินสะพัด 49,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากปีก่อน
logo ข่าวอัพเดท

หอการค้า คาดเปิดเทอมเงินสะพัด 49,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากปีก่อน

ข่าวอัพเดท : ม.หอการค้า คาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอม 49,000 ล้านบาท เหตุค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่พร้อมทำเพื่อการศึกษาบุตรหลาน ยันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ 0.1 - หอการค้า,เปิดเทอม,เงิน,สะพัด,ค่าเทอม,การศึกษา

1,949 ครั้ง
|
10 พ.ค. 2559
ม.หอการค้า คาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอม 49,000 ล้านบาท เหตุค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่พร้อมทำเพื่อการศึกษาบุตรหลาน ยันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ 0.1 - 0.2% แต่รอปรับประมาณการ 12 พ.ค.นี้
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดเทอมปี 2559 ผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 49,145.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.3% จากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 48,040.18 ล้านบาท ดีที่สุดในรอบ 3 ปี แม้ยังขยายตัวไม่สูงมากนักก็ตาม ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะใช้ในการจ่ายค่าเทอม ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือ เเละเสื้อผ้าต่างๆ ซึ่งมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกรายการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ 0.1 - 0.2% แต่ปัจจัยนี้ได้รวมกับการประมาณการเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3 - 3.5% อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยฯ จะปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ แต่ในเบื้องต้นมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงกว่าการประมาณการเดิม 
 
ทั้งนี้จากการสำรวจยังพบว่าปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่มีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงอยู่ที่ 208,691.02 บาท เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 24.11% โดยเป็นหนี้สินมาจากการใช้จ่ายประจำวัน การใช้จ่ายสำหรับบุตรหลาน ค่าผ่อนรถยนต์และที่อยู่อาศัย ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ถึง 51.3% แต่ผู้ปกครองพร้อมกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่อบุตรหลาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าเรียนพิเศษเพิ่มเติมก็ตาม และผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการให้บุตรหลานมีคุณภาพทางด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นเพื่อให้เงินที่ใช้จ่ายในการดูแลการศึกษาของบุตรหลานมีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลจะต้องปรับคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้ง การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การสร้างจริยธรรมคุณธรรมมากกว่าวัตถุนิยม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการศึกษาสายอาชีพ เพื่อให้มีงานมำในอนาคต และควรจะมีการสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน และเพิ่มรายได้ให้กับบุคคลากรทางการศึกษาระดับต้นเพื่อจูงใจให้ทำการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น