นิด้าโพลสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับคอรัปชั่น ความเห็นส่วนหนึ่งชี้ว่าคอรัปชั่นเกิดเพราะผลประโยชน์ที่สูง แต่บทลงโทษต่ำ ต้องทำให้ผู้มีอำนาจได้ประโยชน์น้อยลง และเพิ่มโทษให้สูงขึ้น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง 'พฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอรัปชั่น' โดยสำรวจระหว่างวันที่ 20-27 พ.ย.ที่ผ่านมา สุ่มตัวอย่างจากประชาชน 2,810 คน ด้วยวิธีแบ่งกลุ่มตามภูมิภาค และกระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ
เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น
ร้อยละ 45.88 ระบุว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ไม่เด็ดขาด และล่าช้า
ร้อยละ 39.69 ระบุว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย
ร้อยละ 37.89 ระบุว่าเพราะสังคมวัฒนธรรมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ และระบบพรรคพวกซึ่งเอื้อต่อการทุจริต
ร้อยละ 33.67 ระบุว่าเป็นเพราะการได้รับผลประโยชน์มีความคุ้มค่ามากกว่าบทลงโทษทางกฎหมาย
เมื่อถามความเห็นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริตคอรัปชัน พบว่า
รัอยละ 84.80 เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช./ ป.ป.ท./และ สตง.ในการเข้าตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นในภาคเอกชน
ร้อยละ 84.52 เห็นด้วยกับการห้ามมิให้จำเลยและผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอรัปชันเดินทางออกนอกประเทศ ควรกักบริเวณ
ร้อยละ 63.59 เห็นด้วยกับการห้ามมิให้จำเลยและผู้ต้องหาในคดีคอรัปชั่นได้รับการประกันตัวในทุกกรณี
ร้อยละ 56.65 เห็นด้วยกับการให้จำเลยและผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอรัปชั่นที่ต้องการประกันตัว ต้องวางหลักประกันเป็นวงเงิน 50-80% ของมูลค่าความเสียหายจากคอรัปชั่น
ศ.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการนำโพลนี้ใช้ต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นว่า จากผลสำรวจ ประชาชนส่วนหนึ่งชี้ว่าผลประโยชน์จากการทุจริตคอรัปชั่นนั้นคุ้มค่าเมื่อเทียบกับบทลงโทษทางกฎหมาย จึงควรผลักดันไม่ให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ประโยชน์ หรือผลประโยชน์กระจุกตัวที่คนใดคนหนึ่ง เช่น การทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่อำนาจการตัดสินใจกระจุกที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์
ต้องกระจายอำนาจการวินิจฉัยและอนุมัติให้หลายคนรับรู้และตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มโทษของการทำผิดให้สูงขึ้น แต่ต้องทำให้โอกาสการลงโทษจริงสูงขึ้นด้วยถึงจะเกิดผล เพราะกฎหมายไทยมีบทลงโทษสูงแต่ไม่ค่อยมีการลงโทษจริง ในการไต่สวนและลงโทษ ป.ป.ช. ควรแบ่งงานกับอัยการ เช่นให้ ป.ป.ช. ชี้มูล แล้วอัยการทำหน้าที่ฟ้อง เพื่อความรวดเร็วของคดี
รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ทฤษฎีที่ว่ารวยแล้วไม่โกงนั้นไม่จริง เพราะจากประสบการณ์การเป็นอาจารย์พบว่านักศึกษาที่ทำคะแนนได้ดีหลายราย กลับโกงข้อสอบเพราะตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไว้สูง วัฒนธรรมพื้นฐานของครอบครัวมีบทบาทสูงมากต่อประเทศ พ่อแม่ต้องปลูกฝังลูกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นวาระแห่งชาติ