เมื่อเราตัดสินใจกู้เงินตามสินเชื่อของธนาคารไปแล้ว เมื่อถึงเวลาจ่ายหนี้แต่กลับจ่ายไม่ไหวและมีโอกาสโดนทวงหนี้ เราควรทำอย่างไรเมื่อโดนตามทวงหนี้ในระบบ
สำหรับลูกหนี้ ถ้ารู้ตัวว่ากำลังเริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหวและมีโอกาสโดนทวงหนี้ ก่อนอื่นต้องตั้งสติ และท่องให้ขึ้นใจว่า “ต้องเป็นลูกหนี้ที่ดี”
1. อย่ากลัวการทวงหนี้
เมื่อฝ่ายติดตามทวงหนี้โทรศัพท์มา ควรพูดคุยด้วยความมั่นใจ ไม่ให้รู้สึกหวาดกลัวหรือสั่นเครือ พร้อมรับมือ เพราะอย่าลืมว่าการเป็นหนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ยกเว้นกรณีที่เป็นการทุจริต หรือปลอมแปลงเอกสารทางการเงิน
2. ถามให้ชัดเจน
เมื่อรับโทรศัพท์จากฝ่ายติดตามทวงหนี้ ให้เริ่มด้วยการตั้งคำถามพื้นฐาน เช่น ชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ติดตาม จากนั้นถามข้อมูลที่เจาะลึก เช่น การจ่ายหนี้ การตั้งคำถามลักษณะนี้จะทำให้ฝ่ายติดตามทวงหนี้รู้สึกว่าลูกหนี้รู้ลึกรู้จริงและเข้าใจกฎกติกามารยาทในการทวงหนี้
3. บันทึกเสียง
ก่อนลูกหนี้จะตอบคำถามฝ่ายติดตามทวงหนี้ อย่าลืมขออนุญาตบันทึกเสียงด้วยคำพูดสุภาพ เพราะหากมีปัญหา เช่น โดนข่มขู่ก็สามารถใช้เสียงที่บันทึกให้เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบได้
4. รับโทรศัพท์ทุกครั้ง
ถ้าลูกหนี้ต้องการแสดงความจริงใจ ควรรับโทรศัพท์ฝ่ายเจ้าหนี้ทุกครั้ง ขณะเดียวกันต้องอธิบายด้วยเหตุผลและบอกความจริงถึงปัญหาที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด เพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกัน
5. ชิงโทรศัพท์ไปหาเจ้าหนี้ก่อน
เมื่อรู้ว่าไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด ควรติดต่อไปหาเจ้าหนี้พร้อมอธิบายเหตุผลและสัญญาว่าจะจ่ายหนี้วันไหน วิธีการนี้นอกจากจะแสดงออกถึงความรับผิดชอบแล้วยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี อาจทำให้เจ้าหนี้ผ่อนผันการชำระหนี้ได้อีกด้วย
ข้อควรระวังเมื่อถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างโทรทวงหนี้
ปัจจุบันมิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ทวงหนี้จากสถาบันการเงินเพื่อหลอกเงินประชาชน ท่านควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
1. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
- อย่าเชื่อทันทีแม้ผู้โทรจะอ้างว่ามาจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน
- สอบถามชื่อ-นามสกุล รหัสพนักงาน และหน่วยงานที่สังกัดให้ชัดเจน
- ตรวจสอบกับธนาคารหรือสถาบันการเงินโดยตรงผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นทางการ
2. ระวังการข่มขู่และเร่งรัด
- มิจฉาชีพมักสร้างความกดดันด้วยการข่มขู่หรือเร่งรัดให้ชำระเงินทันที
- อย่าตกใจหรือหวั่นไหวกับคำพูดข่มขู่
- จดบันทึกรายละเอียดการสนทนาและเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อมา
3. ปกป้องข้อมูลส่วนตัว
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน รหัส OTP
- ไม่แชร์ภาพหน้าบัตรประชาชนหรือเอกสารสำคัญอื่นๆ
- ไม่กดลิงก์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่แจ้ง
4. แจ้งความดำเนินคดี
- เก็บหลักฐานการติดต่อทั้งหมด เช่น ข้อความ บันทึกเสียง
- แจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี
- แจ้งเบาะแสไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
5. ช่องทางร้องเรียน
- สายด่วน ปปง. 1710
- ศูนย์ดำรงธรรม 1567
- ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค สคบ. 1166
การรู้เท่าทันและระมัดระวังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพ หากมีข้อสงสัยควรติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และอย่าลืมแจ้งเตือนคนใกล้ชิดให้ระวังภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่