World Pride กับการยกระดับประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางระดับโลกของ LGBTQ+
การผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมไทย ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ยังเป็นสัญญาณที่ดีในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของ LGBTQ+ และในเร็ว ๆ นี้ วันที่ 23-27 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วมประชุม InterPride World Conference 2024 ที่ประเทศโคลอมเบีย ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมผ่านการจัดงาน Pride ระดับโลก
WorldPride เทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในโลก
WorldPride คือเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นโดย InterPride องค์กรระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน Pride ทั่วโลก เทศกาลนี้เป็นการรวมตัวของคนทุกเพศทุกวัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อแสดงความภาคภูมิใจในตัวตนของตนเอง และเรียกร้องความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพสำหรับกลุ่ม LGBTQ+
งาน WorldPride ครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองโรม ประเทศอิตาลี ในปี 2000 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ในการแสดงออกและเชื่อมโยงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่นั้นมางานนี้ถูกจัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง ล่าสุดที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2023 และกำลังจะจัดขึ้นที่วอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2025 และอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2026
สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน WorldPride ในปี 2030 โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นตัวแทนในการเสนอตัว หากได้รับเลือก จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียได้รับเกียรติในการจัดงานระดับโลกนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศของสังคมไทย
ข้อกำหนดในการจัดงาน WorldPride และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
InterPride ได้มีข้อกำหนดประเทศที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Pride ได้แก่ ต้องเป็นประเทศสมาชิก Inter Pride ที่มีสถานะสมาชิกที่ดี, ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร รวมถึง ต้องเป็นองค์กรที่จัดงานไพรด์แบบจริงจังเป็นทางการในพื้นที่สาธารณะ ไม่นับรวมออนไลน์ อย่างน้อย 3 ปี และเข้าร่วมการประชุมประจำปี 2 ใน 3 ปีล่าสุด โดยต้องเข้าร่วมงาน World Pride 1 ครั้ง ขณะที่การดำเนินกิจกรรม หรือจัดงานต้องอยู่ในสถานะไม่ขาดทุน ต้องจัดงาน 3 ปี ภายหลังจากได้รับการพิจารณาจากสมาชิก ที่สำคัญ คือ องค์กรผู้สมัครต้องเข้าร่วมกับการประชุมประจำปีในตอนที่การเสนอตัวถูกพิจารณา
นอกเหนือจากองค์ประกอบข้างต้น แน่นอนว่าการพิจารณาต้องมองภาพรวมของ องค์ประกอบ หรือบริบทโดยรวมของเมืองนั้น ๆ ที่อาจมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นจาก InterPride และประเทศสมาชิกอีกด้วย อาทิ กฎหมายและนโยบายที่เอื้ออำนวย ความปลอดภัย บริการสาธารณะ การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้คงหนีไม่พ้นอำนาจของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการหลัก
• ความพร้อมของเมืองเจ้าภาพ: ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งในด้านที่พัก การเดินทาง และสถานที่จัดงาน
• การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน: ต้องมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างราบรื่น
• ความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชน: เมืองเจ้าภาพต้องสามารถรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของผู้เข้าร่วมงานทุกคน
อีกทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ การสร้างโปรแกรมกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ การประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก และการมีส่วนร่วมของชุมชน LGBTQ+ ในท้องถิ่นอีกด้วย
แคมเปญ “Road to WorldPride” และการยกระดับประเทศไทย
แคมเปญ “Road to WorldPride” เป็นภารกิจสำคัญของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมและเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน WorldPride ในปี 2030 การเข้าร่วมประชุม InterPride World Conference 2024 ที่ประเทศโคลอมเบีย เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ โดยทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ “ทีเส็บ” ในฐานะผู้ดูแลด้านการประมูลสิทธิ์จัดงานในนามรัฐบาลไทย จะเดินทางพร้อมคณะผู้แทนจังหวัดภูเก็ตไปร่วมประชุม เพื่อแสดงความพร้อมและความตั้งใจของประเทศไทย การได้รับสิทธิ์ในการจัดงาน WorldPride จะนำประโยชน์มากมายมาสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น:
• การกระตุ้นการท่องเที่ยว: ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ
• การยกระดับภาพลักษณ์: แสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของ LGBTQ+
• การเติบโตทางเศรษฐกิจ: ส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และจุดหมายปลายทางสำหรับการพำนักระยะยาวของครอบครัว LGBTQ+
ความสำเร็จของแคมเปญนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน LGBTQ+ ทุกคนต้องร่วมมือกันในการผลักดันและเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลกนี้ได้ และการเตรียมเข้าร่วมประชุม InterPride World Conference 2024 เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของ LGBTQ+ การผ่านร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ยิ่งเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกว่า ประเทศไทยพร้อมและยินดีที่จะต้อนรับทุกคนอย่างเท่าเทียม
ในอนาคต หากประเทศไทยได้รับสิทธิ์ในการจัดงาน WorldPride จะเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงศักยภาพของประเทศในเวทีระดับโลก และส่งเสริมการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยอย่างแท้จริง ร่วมติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของงานนี้และข่าวสารด้าน MICE อื่น ๆ เพิ่มเติมที่
www.businesseventsthailand.com