วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 – 18.00 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ร่วมกันแถลงข่าว “การขับเคลื่อนตลาดทุน” ภายใต้หัวข้อความท้าทายสู่โอกาสการขับเคลื่อนตลาดทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
ร่วมกันแถลงข่าว “การขับเคลื่อนตลาดทุน” ภายใต้หัวข้อความท้าทายสู่โอกาสการขับเคลื่อนตลาดทุน
โดยสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดหุ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย ทั้งจาก
ปัจจัยภายใน อาทิ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ส่งผลต่อความล่าช้าต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังมีวิกฤตโควิด ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ GDP ติดลบร้อยละ 6.1 (หรือ -6.1%) ในปี 2563 และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายปี 2566 เป็นต้นมา แม้ว่ายังมีความกดดันจากความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ และความผันผวนของตลาดการเงินจากนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจ เศรษฐกิจของไทย เริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากความคลี่คลายทางการเมืองที่ได้ปลดล็อกการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่กลับมาใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงในปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้า สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ พบว่าผลประกอบการของบริษัทจดเบียนที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ มากกว่าครึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ระดับราคาของหุ้นไทยที่ปรับลดลง
ในขณะที่ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เป็นโอกาสของการเข้าลงทุนในระยะยาวที่รับความเสี่ยงผันผวนในระยะสั้นเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ตอบโจทย์การสร้างความเพียงพอ และความมั่นคงทางการเงินของผู้ลงทุนได้
สรุป 3 มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย
เพื่อมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการออมและการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและพัฒนาตลาดทุนไทยให้ทันสมัยและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม
1. ส่งเสริมการออมและการลงทุน
- ปรับปรุงกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG fund) ให้น่าสนใจขึ้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวและผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน โดยมีนโยบายต้องลงทุนมากกว่า 80% ของทรัพย์สินสุทธิ ทั้งหมดที่กองทุนนั้นมี (Net Asset Value - NAV) ของหุ้นใน SET/mai ที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) และ โทเคนดิจิทัลเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green token) พร้อมเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเป็นสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ พร้อมปรับลดระยะเวลาถือหน่วยลงทุนเหลือ 5 ปี (นับจากวันที่ซื้อ) โดยจะบังคับใช้ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 เพื่อจูงใจนักลงทุนและเป็นทางเลือกในการออมให้กับกลุ่มคนอายุน้อย อาชีพอิสระ และกลุ่มคนที่ลงทุนในวงเงินเกษียณ (เช่น RMF) ไม่เต็มจำนวน
- ชุบชีวิตกองทุนวายุภักษ์ กลับมาอีกครั้ง มาเสริมสร้างกลไก การออม การลงทุนให้กับประชาชนผ่านรูปแบบการลงทุนร่วมของภาครัฐ พร้อมโครงสร้างผลตอบแทนที่ยืดหยุ่น เพื่อรองรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่างกัน
- ส่งเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ด้วยการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนา Exchange-Traded Fund (ETF) และบัญชีส่วนบุคคลเพื่อการลงทุนระยะยาว (Individual Saving Account) พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตอบโจทย์แผนการเปลี่ยนเรื่องการออมให้เป็นเรื่องของการลงทุนผลตอบแทนที่เพียงพอ
2. ยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน
- แก้ปัญหาขายชอร์ตและโปรแกรมเทรด ด้วยการออกมาตรการเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจส่งผลเสียต่อตลาดและนักลงทุน
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ที่จะเพิ่มความเข้มข้นในการลงโทษผู้กระทำผิด ติดตามและปรับปรุงมาตรการ พร้อมตรวจสอบและปรับปรุงมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทาง “ก.ล.ต. ตลท. และ ASCO” ได้ร่วมกันจัดตั้ง Securities Bureau กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และการกำกับดูแลการซื้อขาย เพื่อให้มีข้อมูลวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลูกค้าได้รับจาก Broker ต่างๆ มาใช้พิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยระบบจะพร้อมใช้ได้ในไตรมาส 3/67 นอกจากนี้จะมีการปรับคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาด SET และ mai โดยจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.68
3. แนวทางการพัฒนาตลาดทุนสู่อนาคต
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนในทุกขั้นตอนทั้งระบบ (end to end) ให้เป็น “ตลาดทุนดิจิทัล” เพื่อรองรับสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure : DIF) เพื่อยกระดับตลาดทุนดิจิทัลและรองรับ tokenized securities เพื่อรองรับการออกหลักทรัพย์ (เช่น หุ้นกู้ หุ้น หน่วยลงทุน)แบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 1 ปี 2568
- เปิดให้ระดมทุนจากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เพื่อตอบรับเทรนด์การลงทุนใหม่ๆ ด้วยการส่งเสริมการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)
- ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดที่มีการกำกับดูแล เพื่อความโปร่งใสและคุ้มครองนักลงทุน tokenize carbon credit ที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถให้บริการได้ ตั้งแต่ 4 เม.ย. 67 โดย คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับ utility token พร้อมใช้ ในไตรมาส 3 ปี 2567
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่