แครอท ฟักทอง กินมากระวังตัวเหลือง
logo ข่าวอัพเดท

แครอท ฟักทอง กินมากระวังตัวเหลือง

ข่าวอัพเดท : เคยได้ยินกันไหมว่า หากเราทานแครอทหรือฟักทองมาก ๆ ตัวของเราจะกลายเป็นสีเหลือง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปไขคำตอบว่า การทานแครอท ฟักทองสาม แครอท,ฟักทอง,ตัวเหลือง,ผักสีเหลือง,แคโรทีเนเมีย

38,623 ครั้ง
|
31 พ.ค. 2567

เคยได้ยินกันไหมว่า หากเราทานแครอทหรือฟักทองมาก ๆ ตัวของเราจะกลายเป็นสีเหลือง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปไขคำตอบว่า การทานแครอท ฟักทองสามารถทำให้ตัวสีเหลืองได้จริงหรือไม่ แล้วเพราะอะไรเราถึงตัวสีเหลืองได้

ตัวเหลืองได้จริงหรือไม่ ?

คำตอบก็คือ ถ้าเราทานแครอทหรือฟักทองมาก ๆ ตัวเราจะกลายเป็นสีเหลืองจริง แต่ต้องเป็นการทานในปริมาณที่มากเกินไปหรือทานติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะ แครอท หรือ ฟักทอง ยังรวมไปถึง ส้ม มันหวาน มะละกอ หรือผักผลไม้สีเหลืองส้มทุกชนิดด้วย

ทำไมถึงตัวเหลือง ?

ในแครอทและฝักทองมีสารที่ชื่อว่า แคโรทีน (carotenes) ซึ่งเป็นโมเลกุลของสารในกลุ่มแคโรตินอยด์ (carotenoid) เป็นเม็ดสีเหลือง ส้ม ในอาหารพืชที่มีสีทุกชนิด เป็นสารที่ให้วิตามินเอ. (retinol) แก่ร่างกาย สารตัวนี้ร่างกายเราสร้างขึ้นเองไม่ได้ ต้องรับผ่านการทานเข้าไปเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย เพราะช่วยปกป้องไม่ให้ผิวเกรียมแดดได้ง่าย ๆ ช่วยให้เม็ดสีในผิวของเราทำงานได้สมบูรณ์ แต่ทว่าหากเราทานผักผลไม้สีเหลือง ส้ม ซึ่งอุดมไปด้วยแคโรทีนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างหนึ่ง คือ "ตัวกลายเป็นสีเหลือง"

ตัวสีเหลือง

อาการ "ตัวเหลือง" เกิดจากการกินอาหารที่มีสารแคโรทีนมากเกินไป เช่น แครอท ส้ม หรือฟักทอง มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "แคโรทีเนเมีย" (carotenemia) โดยสารแคโรทีนนั้นเข้าไปในกระแสเลือด และจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดการเปลี่ยนสี

ไม่เฉพาะแค่ผิวเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนสีได้ อุจจาระและปัสสาวะก็จะเปลี่ยนสีออกเป็นส้มและเหลืองได้เช่นกัน เนื่องจากสารแคโรทีนนั้นถูกขับออกมาเช่นกัน

ส่วนใหญ่อาการแคโรทีเนเมีย มักพบในเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกป้อนอาหารประเภท น้ำส้ม แครอทบด ฟักทองนึ่ง ให้กินอยู่บ่อย ๆ ส่วนอาการนี้ในผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้บ้างเช่นกัน ซึ่งมักเป็นในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับที่ไร้เอนไซม์ที่จะเปลี่ยนแคโรทีนให้กลายเป็นวิตามินเอ จึงมักประสบปัญหาตัวส้ม ตัวเหลืองได้ แถมเป็นแล้วใช้เวลานานกว่าสีผิวจะกลับเข้าสู่สภาพปกติด้วย

การรักษาอาการ แคโรทีเนเมีย

อาการนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการบริโภคผักผลไม้ที่มีแคโรทีนสูงในปริมาณที่มากเกินไป การรักษานั้นแพทย์มักจะตรวจหาสาเหตุการบริโภคและให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น โดยอาการผิวเปลี่ยนสีนี้จะอยู่ประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ เนื่องจากการสะสมของแคโรทีนในชั้นผิวหนังนั่นเอง

ที่มา: Kapook, SciMath