เกษตรกรส่วนมากอาจยังไม่ทราบในเรื่องของภาษีที่แน่ชัด โดยเฉพาะเกษตรกรปลูกข้าวจำหน่าย หรือที่เรามักเรียกว่า ชาวนา ส่งผลให้ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังโดยไม่รู้ตัว และอาจจะยังงงอยู่ว่า ทำไมชาวนาต้องเสียภาษี และเสียภาษีอะไรบ้าง ?
เกษตรกรปลูกข้าวจำหน่ายที่ทำในนามบุคคลธรรมดา
จากหลักของการเสียภาษีสำหรับเกษตรกรที่ทำในนาม บุคคลธรรมดา เช่น เกษตรกรปลูกพืชผักผลไม้ ไม้ดอก ไม้ยืนต้น เมื่อมีเงินได้จากการขายผลผลิต ทางการเกษตรเหล่านี้ จะจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มีหน้าที่ต้องเสียภาษี มาตรา 40(8) โดยเป็นเงินได้จากธุรกิจการเกษตรที่ได้มาโดยมุ่งเน้นการค้าหรือหาผลกำไร แต่ถ้าหากเป็นเกษตรกรปลูกข้าวจำหน่าย สามารถแบ่งเป็นภาษีที่ต้องเสียได้ดังนี้
1.เสียภาษีเงินได้มาตรา 40(8) หากชาวนามีรายได้ลักษณะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียภาษีตามกรณีดังนี้
1.1 ชาวนาที่ปลูกข้าวจำหน่ายเอง แต่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.2 หากเป็นชาวนาแต่ไปรับข้าวสารที่อื่นมาขาย ไม่ได้ปลูกข้าวเองหรือไม่ได้ทำกสิกรรมเองจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 ครั้งต่อปี คือ
1) ภาษีครึ่งปี ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีที่ได้รับเงิน โดยนำเงินได้ เดือนมกราคม-มิถุนายนของปีนั้น ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปี
2) ภาษีสิ้นปี ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป โดยนำรายได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งปี มารวมคำนวณภาษีที่ผ่านมาผ่านแบบ ภ.ง.ด.90 และหักด้วยภาษี ที่ได้ชำระไว้แล้วเมื่อตอนยื่นแบบครึ่งปี
2.ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ จะต้องเป็นชาวนาไม่ใช่เกษตรกรอื่น สำหรับชาวนาปลูกข้าวจำหน่ายเอง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวนา ตามมาตรา 42(15) เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้ยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ “(15) เงินได้ของชาวนาที่ได้จากการขายข้าวอันเกิดจากกสิกรรมที่ตนและหรือครอบครัวได้ทำเอง” โดยผู้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ได้ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาให้เรียบร้อยก่อนเท่านั้น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับเกษตรกรปลูกข้าวจำหน่าย
กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรทุกประเภท รวมถึงชาวนาได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
1.การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น พืชผล กิ่ง ใบ หน่อ หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งที่อยู่ในสภาพของสดหรือรักษาสภาพไว้ เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งหรือเพื่อขาย
2.การขายข้าวสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว เช่น แกลบ รำ ไม่ว่าจะใส่ใน บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใดก็ตาม
3.ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดย่อมที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี
ภาษีที่ดินสำหรับเกษตรกรปลูกข้าวจำหน่าย
ตามหลักการแล้ว เกษตรกรเจ้าของที่ดิน รวมถึงชาวนาผู้เป็นเจ้าของที่ดิน มีหน้าที่ต้องเสีย "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" โดยกฎหมายกำหนดว่าเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นผู้ครอบครอง ทั้งที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ก็ตาม ทั้งรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนเอกสารสิทธิหรือปรากฏเข้าครอบครองเจ้าของที่ดิน รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่ใช้ที่ดินของรัฐ มีหน้าที่เสียภาษีที่ดิน
แต่จะได้ยกเว้นภาษีที่ดินทางการเกษตรได้ก็ต่อเมื่อ ถ้าที่ดินทางการเกษตร เป็นบุคคลธรรมดาได้ใช้ที่ดินในการทำการเกษตร ในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับการยกเว้นภาษีถ้าราคาประเมินที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกต่อเขตปกครองนั้น หากมีส่วนเกินจึงค่อยนำมาคิดภาษี ดังรายละเอียดอัตราภาษีต่อไปนี้
อัตราภาษีที่ดินทำการเกษตรสำหรับบุคคลธรรมดา
- ที่ดินมูลค่า 0 - 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01% (ล้านละ 100 บาท)
- ที่ดินมูลค่า 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03% (ล้านละ 300 บาท)
- ที่ดินมูลค่า 100 - 500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05% (ล้านละ 500 บาท)
- ที่ดินมูลค่า 500 - 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07% (ล้านละ 700 บาท)
- ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1% (ล้านละ 1,000 บาท)
อัตราภาษีธุรกิจเกษตรสำหรับนิติบุคคล สำหรับการทำการเกษตรในนามนิติบุคคล
- ที่ดินมูลค่า 0 - 75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01% (ล้านละ 100 บาท)
- ที่ดินมูลค่ามากกว่า 75 - 100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03% (ล้านละ 300 บาท)
- ที่ดินมูลค่ามากกว่า 100 - 500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05% (ล้านละ 500 บาท)
- ที่ดินมูลค่ามากกว่า 500 - 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07% (ล้านละ 700 บาท)
- ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1% (ล้านละ 1,000 บาท)
เมื่อชาวนาได้ขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาแล้ว และทำนาเองจริงจะได้ยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) อยู่แล้วด้วย แต่ที่ต้องเสียอย่างแน่นอนคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกษตรปลูกข้าวจำหน่าย ต้องเสียทุกปีอยู่แล้วหากไม่เข้าข่าย ได้รับยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่