ว่าด้วยเรื่องเงินชราภาพประกันสังคม มีกี่แบบ ได้ตอนไหน มีรายละเอียดอะไรบ้าง แล้วข้อดี-ข้อเสียอะไรไหม วันนี้มีคำตอบ ?
มาดูสิทธิที่ควรรู้เมื่อเราเกษียณไปแล้วว่าเงินชราภาพประกันสังคม มีกี่แบบ และได้ตอนไหน ข้อมูลจากประกันสังคมในประกันสังคมมาตรา 33 เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีสิทธิ์ที่จะยื่นขอรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมได้
โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1. หากผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จ”
2. ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15ปี ) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
ดังนั้นเกณฑ์แรกที่จะรู้ว่าเราจะได้รับเงินเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ คือ “ระยะเวลาที่ เราส่งเงินจ่ายสมทบในประกันสังคม” นั่นเอง ทีนี้เรามาดูกัน ในรายละเอียดปลีกย่อยในการได้รับเงินแต่ละแบบกัน
กรณีบำเหน็จชราภาพ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น อีก 2 กรณี คือ
1. จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน
จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม
2. จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน
จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตน และส่วนของ นายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
กรณีบำนาญชราภาพ ก็สามารถแบ่งเป็นปลีกย่อย ได้อีก 2 กรณี เช่นกัน คือ
จ่ายเงินสมทบมา 180 เดือนพอดี
จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงิน ค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญ ให้อีก ร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน
เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย เงินชราภาพประกันสังคม
การรับเงินบำเหน็จ
ข้อดี ได้เงินก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
ข้อเสีย จะได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืน อาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต
การรับเงินบำนาญ
ข้อดี ได้เงินมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุนหากมีความต้องการ
วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ประกันสังคมจ่ายหลังเกษียณเท่าไหร่ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือนตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หากจ่ายเงินสมทบ เกิน 180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
วิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม ม.33
หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท มาตลอด และส่งเงินสมทบ มาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้อัตราเงินบำนาญ 20%
ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16 - ปีที่ 20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญ เพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อปี
"รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี จะได้ 20% + 7.5% = 27.5% เท่ากับว่า ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต"
ผู้ประกันตนมาตรา 33 เสียชีวิต ทายาทรับบำเหน็จจนครบ 60 เดือน
กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี นับแต่เดือนที่ได้รับ เงินบำนาญชราภาพ ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนเดือนที่เหลือ หลังจากผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินสมทบรายเดือนกับกองทุนประกันสังคมนั้นมิได้สูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างการทำงานมากมายแล้ว เมื่อถึงวัยเกษียณ ก็ยังคงอุ่นใจได้ว่า มีเงินออมชราภาพไว้เป็นหลักประกัน
ผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital