logo เงินทองของจริง

มาตรการแก้หนี้แบบยั่งยืนแบบครบวงจร จากธนาคารแห่งประเทศไทย | เงินทองของจริง

เงินทองของจริง : ปัจจุบันเห็นว่าทางแบงค์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการแก้หนี้ยั่งยืนแบบครบวงจรด้วย มาตรการมีอะไรบ้างวันนี้มีคำตอบ ?

9,567 ครั้ง
|
01 พ.ค. 2567
ปัจจุบันเห็นว่าทางแบงค์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการแก้หนี้ยั่งยืนแบบครบวงจรด้วย มาตรการมีอะไรบ้างวันนี้มีคำตอบ ?
 
การแก้หนี้ยั่งยืน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending, RL) ซึ่งบางหลักเกณฑ์เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งการแก้หนี้แบบยั่งยืนทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่ได้คล่องมากนัก และมีแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ลูกหนี้เริ่มมีปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และมีเงินเหลือพอในการดำรงชีพ โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา สำหรับการแก้ปัญหาลูกหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้โดยไว ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567
 
ปัจจุบัน  ธปท. ได้ห้ามผู้ให้บริการเรียกเก็บ “prepayment fee” หรือ ค่าปรับ จากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (การปิดหนี้ ก่อนวันที่ตกลงไว้ในสัญญา) จากสินเชื่อหลายประเภท คือ 
1. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 
2. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano finance) 
3. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 
4. สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล
5. สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ เช่น สินเชื่อสวัสดิการ 
ทั้งหมดนี้ ครอบคลุมถึงสัญญาเก่าที่ยังมีผลอยู่ด้วย ส่วนการยกเว้น มีเพียงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผู้ให้บริการยังเรียกเก็บ prepayment fee ได้ในช่วง 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญา เพื่อให้ลูกหนี้ มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ (teaser rate) ในช่วง 3 ปีแรก
 
 “การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้” ทางธนาคารแห่งประเทศไทย มีการทำอย่างไรบ้าง ?
 
ธปท. ก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ด้าน “การโฆษณาของผู้ให้บริการ” โดยผู้ให้บริการต้องมีข้อกำหนดดังนี้
1. “ถูกต้องและชัดเจน” หมายถึง ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลที่สำคัญ เข้าใจง่าย ไม่บิดเบือน หรือทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และสำหรับกรณีการโฆษณาดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม เพื่อจูงใจลูกค้า ผู้ให้บริการต้องแสดงเงื่อนไขที่สำคัญอย่างครบถ้วนในสื่อชิ้นเดียวกัน
2. “ครบถ้วนและเปรียบเทียบได้” หมายถึง 
- ผู้ให้บริการต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ต่อปี เป็นช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดถึงสูงสุด อย่างชัดเจน 
- หากเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้แสดงคำเตือนว่า “อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้” 
- กรณีที่ผู้ให้บริการแสดงข้อมูลผ่อนชำระเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น “ผ่อนหมื่นละ 10 บาทต่อวัน” ก็ต้องแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณ เช่น “เงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ดอกเบี้ยทั้งสัญญา 7,200 บาท ค่างวด 300 บาทต่อเดือน ผ่อนนาน 5 ปี” เป็นต้น เพื่อที่ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยได้
3. “ไม่กระตุ้นก่อหนี้เกินควร” หมายถึง ผู้ให้บริการห้ามโฆษณากระตุ้นก่อหนี้เกินควร เช่น “Brand name อยากได้ ต้องได้” เป็นต้น และเพิ่มคำเตือนเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน (nudge) โดยกรณีสินเชื่อรายย่อย ก็ให้แสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็น และชำระคืนไหว” ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิต ก็ให้แสดงคำเตือน “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย” รวมทั้งยังห้ามทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ
 
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
 
 
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง