ก่อนหน้านี้สคฝ.(สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) เผยเงินฝากหดตัวลง หลายสถาบันการเงินพูดถึง “เงินฝากสีเขียว” วันนี้จะพามารู้จักว่า ต่างจากเงินฝากประจำอย่างไร ก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจหรือไม่ ?
สำหรับไทยเงินฝากสีเขียวถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าติดตาม เพราะเริ่มเข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน หลายคนสงสัยว่าจะสามารถเติบโตและได้รับความนิยมในตลาดการเงินหรือไม่
เงินฝากสีเขียว (Green Deposits) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ลูกค้าทั้งประเภทนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสามารถฝากเงินไว้กับธนาคารในรูปแบบของเงินฝากประจำ (Time Deposits) ซึ่งมีระยะเวลาแตกต่างกันตามแต่ละธนาคารกำหนด โดยเงินที่ฝากไว้จะแตกต่างจากเงินฝากประจำทั่วไป ตรงที่จะต้องถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการลงทุนแก่ธุรกิจหรือโครงการที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทดแทน เกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น โดยนอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากการฝากเงินแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อมอีกด้วย
ความต่างของเงินฝากทั่วไปกับเงินฝากสีเขียว
- เงินฝากประจำทั่วไปและเงินฝากสีเขียวเหมือนกันตรงรูปแบบการฝากเงินที่เป็นการฝากประจำ แต่จะต่างกันตรงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่ธนาคารจะนำเงินไปใช้โดย
ธนาคารจะนำเงินที่ลูกค้าฝากไว้ไปปล่อยเป็นสินเชื่อ สินเชื่อธุรกิจให้กลุ่มผู้ประกอบการ สินเชื่อลูกค้ารายย่อย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการให้สินเชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มลูกค้า
- เงินฝากสีเขียวจะถูกนำไปปล่อยเป็นสินเชื่อให้เฉพาะธุรกิจหรือโครงการที่เป็นมิตร และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ซึ่งแต่ละธนาคารจะคัดเลือกธุรกิจหรือโครงการภายใต้กรอบเงินฝากสีเขียวที่กำหนด หรืออาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แหล่งที่มาของเงินฝากสีเขียวไม่ได้แตกต่างจากเงินฝากอื่น ๆ หากแต่ความต่างเกิดจากการนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเห็นได้ว่าเงินฝากสีเขียวเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนผ่านการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ทำความรู้จักเงินฝากสีเขียวในต่างประเทศ
1. ฮ่องกง,ญี่ปุ่น มีการทำงานคล้ายกัน คือ มีการนำเงินฝากสีเขียวไปปล่อยสิน เชื่อในกิจกรรมใน 2 กลุ่มหลัก คือการป้องกันและควบคุมมลพิษและอาคารสีเขียว
2. เยอรมนี โครงการที่สนับสนุนมีทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การขนส่งที่สะอาด และอาคารสีเขียว
3. อินเดีย สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วิธีการจูงใจผู้ที่ต้องการ
ออมให้เปิดบัญชีเงินฝากสีเขียว โดยเสนอดอกเบี้ยเงินฝากสีเขียวในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป แต่กำหนดระยะเวลาฝากสูงสุดสั้นกว่าการฝากประจำทั่วไปจูงใจกลุ่มผู้ฝากที่ต้องการผลตอบแทนสูงและกลุ่มผู้ฝากที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม
ภาพรวมของการเงินสีเขียวในประเทศไทย
- เงินฝากสีเขียว สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมายังไม่มีธนาคารไหนนำเงินฝากสีเขียวเข้ามา แต่ไม่นานมานี้เริ่มมีธนาคารนำเงินฝากเข้ามาโดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่กล่าวถึงบ่อยมีอีก 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้สีเขียว
- ตราสารทุนสีเขียวและสินเชื่อสีเขียว ตราสารหนี้สีเขียว มูลค่าตราสารหนี้สีเขียวออกใหม่มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 157,261 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด
พบว่าตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง การระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยนิยมใช้มากในปัจจุบัน
- ตราสารทุนสีเขียว แม้ว่าตลาดทุนของไทยจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับต่างประเทศ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าตลาดโดยรวม พบว่าอัตราการเข้าถึงตราสารทุนสีเขียวในตลาดของไทยสูงกว่าของต่างประเทศ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมากด้วยเช่นกัน
- สินเชื่อสีเขียว สินเชื่อสีเขียวเติบโตร้อยละ 5.5 ต่อปี เป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดี ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และภาคธนาคารเองก็ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการสีเขียวต่าง ๆ
ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเงินฝากสีเขียวในประเทศไทยและต่างประเทศ
ธนาคารในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มนิติบุคคลเป็นหลัก โดยมีวงเงินฝากสูงสุดไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการฝากเงิน ถือได้ว่ามีความสามารถในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ในขณะที่มีธนาคารอินเดียได้นำเสนอให้กับลูกค้าบุคคลธรรมดาด้วย เนื่องจากฐานลูกค้าที่ใหญ่และความนิยมในการเก็บออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำ
ในประเทศไทย มองว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นไปได้ทั้งลูกค้านิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยกลุ่มลูกค้านิติบุคคล คือกลุ่มผู้ประกอบการที่ใส่ใจความยั่งยืนและต้องการสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนลูกค้ากลุ่มบุคคลธรรมดานั้น อาจจะต้องวิเคราะห์ทั้งพฤติกรรมการออมเงินและการตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในแต่ละช่วงอายุลูกค้ารายย่อยน่าจะเป็นกลุ่ม Baby Boomer รองลงมาคือกลุ่ม Gen X ตามด้วย Gen Y และกลุ่ม Gen Z ลดหลั่นกันไป
ทิศทางในอนาคตของเงินฝากสีเขียว
ทิศทางของเงินฝากสีเขียวจะไม่เป็นแค่กระแส หากเริ่มต้นด้วยความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่มีความต้องการฝากเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีทรัพยากรในการรณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคมสูง กลุ่มเป้าหมายสำหรับการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียวมากที่สุดคือกลุ่ม Baby Boomer และ Gen X เนื่องจากทั้งสองกลุ่มนี้ทั้งมีวินัยในการออมเงินที่มากกว่าช่วงวัยอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และยังเป็นกลุ่มที่ตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อนและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมรักษ์โลก ซึ่งในระยะแรกการหาโครงการในลักษณะนี้เพื่อลงทุนอาจเป็นความท้าทายที่สำคัญของธนาคาร เนื่องจากตลาดของการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจยังไม่พัฒนาเต็มที่ และอาจเป็นขีดจำกัดต่อวงเงินฝากสีเขียวรวมที่แต่ละธนาคารสามารถนำเสนอได้
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่