ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2567 ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (Responsible Lending)
โดยระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับแม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19
แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูงการยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมผู้ให้บริการต้องมีการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ ประกอบด้วย 8 ด้าน ดังนี้
- ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ (risk-based pricing) รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า
- ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ “ถูกต้องและชัดเจน” “ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้” และ “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร” เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน
- กระบวนการขาย ผู้ให้บริการต้องดูแลให้ลูกค้าได้รับข้อมูลสำคัญครบถ้วน ไม่เกินจริง ไม่บิดเบือน เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงได้รับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือความต้องการในการใช้เงินของลูกค้าและไม่ถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร
- การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) ผู้ให้บริการต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด และคำนึงถึงเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (residual income) ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของลูกค้า อย่างเต็มที่เท่าที่ผู้ให้บริการสามารถทำได้ (best effort)
- การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในระหว่างการเป็นหนี้ ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลและคำเตือนสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนการกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing)
- การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ผู้ให้บริการต้องแจ้งข้อมูลสำคัญให้ลูกหนี้ตระหนักถึงผลเสียของการเป็นหนี้ที่เรื้อรัง รวมทั้งมีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐานเพื่อให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้อย่างเหมาะสม
- การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้โดยเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังประสบปัญหาชำระหนี้ ตลอดจนเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์
- การดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายลูกหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกหนี้ได้รับทราบสิทธิและข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วนเมื่อถูกดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ตลอดจนควรเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้ รวมถึงภายหลังจากการโอนขายหนี้ ลูกหนี้ได้รับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม
โดยมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนหลายคนกลายเป็นหนี้เรื้อรัง ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 1 มกราคม 2567 หนึ่งในนั้นคือ การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)
ระดับของลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (general PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี
ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (severe PD) คือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังที่จ่ายชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วงย้อนหลัง 5 ปี และเป็นลูกหนี้ในลักษณะ ดังต่อไปนี้
- ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท
- ลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับซึ่งมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital