เช้านี้ที่หมอชิต - จากประเด็นการเสนอชื่อ นายพิธา ซ้ำได้หรือไม่ ที่ได้ข้อยุติว่าเสนอชื่อซ้ำไม่ได้นั้น
ในการประชุมสภาผู้แทนฯ เมื่อวานนี้ ช่วงที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก่อนเข้าสู่วาระได้แจ้งต่อที่ประชุมกรณีรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ขณะนี้มี สส. ทั้งหมด 499 คน
จากนั้น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นขอชี้แจงกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยยืนยันว่า นายพิธา ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าเป็นผู้กระทำผิด และแม้จะมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่สถานะของ นายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ยังมีสถานะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ
มีแถลงการณ์จาก นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่ามติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยสรุปดังนี้ การเสนอชื่อ นายพิธา เพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเสนอญัตติตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เสนอต่อสภา มี 2 ประเภท คือ ญัตติทั่วไป และญัตติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ การเสนอญัตติทั่วไปของรัฐสภาจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 ส่วนการเสนอญัตติที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติถึงวิธีการยื่นและข้อจำกัดในการยื่นไว้ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
แถลงการณ์มองว่า ญัตติการเสนอชื่อ นายพิธา อันเป็นญัตติเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 ซึ่งญัตติดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญมิได้มีข้อจำกัดจำนวนครั้งในการยื่น จึงเสนอได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะรัฐธรรมนูญมิได้จำกัดไว้ และไม่อาจใช้ข้อบังคับข้อ 41 ซึ่งใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาใช้บังคับได้
ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อ นายพิธา รวมทั้งสมาชิกที่รับรองการเสนอชื่อจึงเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ สมาชิกดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและการลงมติของสมาชิกรัฐสภา จำนวน 394 คน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีจดหมายจาก อาจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนถึง คุณวันนอร์ เผยแพร่ผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยมีเนื้อหาดังนี้
ในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ต่อรัฐธรรมนูญดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนักกฎหมายท่านอื่น ๆ ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เป็นการทำให้เกิดการทำลายคุณค่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยข้อบังคับการประชุมซึ่งต่ำศักดิ์กว่า
ขณะเดียวกัน คุณก็ยังทำให้มีการโหวตทั้ง ๆ ที่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่าผลโหวตจะออกมาอย่างไร หากคุณปฏิเสธไม่รู้ก็ออกจะไร้เดียงสาเกินไป ร้ายไปกว่านั้น คุณยังปล่อยให้สมาชิกวุฒิสภาบางคนแสดงความเห็นไปในเชิงข่มขู่คุกคามสมาชิกสภาท่านอื่น ๆ ก่อนที่การทำลายคุณค่าของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดำเนินไปจนกลายเป็นบรรทัดฐานอัปลักษณ์นี้ คุณต้องเป็นคนแรกที่ดำเนินการแก้ไขนี้ ด้วยการใช้ดุลพินิจและประกาศต่อสมาชิกสภาทุกท่านว่า การลงมติของสภาในวันที่ 19 นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ และจะขอดำเนินการแก้ไขในวันและเวลาก่อนการประชุมสภาครั้งต่อไป คุณเป็นคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อัปลักษณ์นี้ คุณจึงต้องเป็นคนแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อสังคมการเมืองที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเถื่อนของคนเพียงไม่กี่คนในรัฐสภา
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม