เช้านี้ที่หมอชิต - ท่ามกลางข่าวดีลลับจับขั้วใหม่ ตำแหน่งประธานสภา ที่สามารถกำหนดวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้จึงยิ่งมีความสำคัญ เรื่องนี้จึงกลายเป็นปมที่ฝั่งก้าวไกลและเพื่อไทยกำลังถกเถียงกันอย่างหนัก บางคนบอกว่าอย่ากินรวบ ไม่มีเพื่อไทย ก้าวไกล เดินต่อไม่ได้ ขณะที่ก้าวไกล บอกว่า อยากรักษาประเพณีที่ตำแหน่งประธานสภาต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่งเอาไว้ วันนี้ เราจะมาไร่เรียงดูกันว่า ประธานสภาหลังเลือกตั้ง มาจากพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจริงหรือไม่
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ผู้คนตื่นตัวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การเลือกตั้ง ครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ สส. 79 ที่นั่ง พรรคชาติไทยอันดับสองได้ สส. 77 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรีคือ นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ประธานสภา คือ นายมารุต บุนนาค พรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ ประธานสภามาจากพรรคอันดับหนึ่ง
การเลือกตั้งปี 38 พรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้งได้ สส. 92 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์อันดับสองได้ สส. 86 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย ประธานสภา บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ พรรคชาติไทย ครั้งนี้ ประธานสภาก็มาจากพรรคอันดับหนึ่ง
ไปต่อกันที่ การเลือกตั้งปี 39 พรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้งได้ สส. 125 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์อันดับสองได้ สส. 123 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ และ ประธานสภา วันมูฮะหมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่
สังเกตว่า พรรคอันดับหนึ่งและสอง ห่างกันเพียงสองเสียงเท่านั้น แต่ประธานสภาก็ยังคงมาจากพรรคอันดับหนึ่ง การเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งได้ สส. 248 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์อันดับสองได้ สส. 128 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย ประธานสภา อุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย
การเลือกตั้งปี 48 พรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งได้ สส. 377 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ อันดับสองได้ สส. 96 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย และประธานสภา นายโภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย
การเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้งได้ สส. 233 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ อันดับสองได้ สส. 164 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช พรรคพลังประชารัฐ ประธานสภา นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน
การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งได้ สส. 265 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ อันดับสองได้ สส. 159 ที่นั่ง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และประธานสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย
จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ไม่ว่าเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย จะห่างกันแค่ 2 เสียง หรือชนะแบบแลนด์สไลด์ พรรคอันดับหนึ่งจะได้ตำแหน่งประธานสภา
มีเพียงการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ที่ตำแหน่งประธานสภาไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่งที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น และพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้เสนอตำแหน่งประธานสภาเอง แต่กลับหลีกให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย แข่งกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งทางพลังประชารัฐเองก็เหมือนจะมีความลงตัวในเรื่องนี้ในตอนแรก จึงมีความพยายามเสนอญัตติให้เลื่อนการลงมติเลือกประธานสภาไปก่อน
โดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ สส.บัญชีรายชื่อ ยอมรับว่ายังมีปัญหาในการตกลงเรื่องมติกับพรรคแนวร่วม แต่ลงมติแพ้จึงมีการลงมติในวันนั้น ผลปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่งเป็นคนแรกในรอบหลายสิบปี ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังต้องจับตาว่าธรรมเนียมปฏิบัติของสภาจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหรือไม่
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/ItVr6o6tr4U