โควิดยังไม่จบ ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังน่าเป็นห่วง นักวิชาการ เผย จำนวนคนไร้บ้านพุ่งสูงกว่าเดิม 30 % ห่วง ‘ผู้สูงอายุ’ ตกงานไร้บ้านตอนแก่ มีโอกาสกลับเข้าสู่การมีคุณภาพที่ดียาก
จากกรณีการเป็นคนไร้บ้านเพราะพิษเศรษฐกิจหลังโควิด
เราได้พูดคุยเรื่องนี้เพิ่มเติมกับ คุณอนรรฆ (อ่านว่า อะ-นัก) พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพกว้าง
คุณอนรรฆ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้เกิดการเลิกจ้าง และการปิดตัวลงของกิจการขนาดเล็กจำนวนมาก เห็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคน หลายอาชีพต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หากมองจากจำนวนคนไร้บ้านทั้งประเทศ ช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ประมาณ 2,700 คน ขณะที่ในปัจจุบัน จากคาดการณ์เบื้องต้นน่าจะมีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 หรือประมาณ 3,500 คน และหากดูเฉพาะกรุงเทพ จากเดิม 1,200 คน เพิ่มมาเป็น 1,800 คน
คุณอนรรฆ ยังสะท้อนด้วยว่า กลุ่มที่น่ากังวลคือ กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุที่ตกงานในช่วงโควิด เพราะถึงเศรษฐกิจกลับมาดี ตลาดแรงงานเปิด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้จะได้กลับไปทำงาน ส่วนใหญ่คนที่กลับไปทำงานได้ในคือ วัยแรงงาน ตอนนี้เพิ่งผ่านมา 2-3 ปี ยังถือว่าอยู่ช่วงคนไร้บ้านหน้าใหม่จะกลับเข้าสู่การมีคุณภาพที่ดีได้ แต่สำหรับผู้สูงอายุยังเป็นโจทย์ที่ยาก และประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ สำหรับคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ การแก้ปัญหาไม่ใช่การให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัว เพราะหลายคนออกจากบ้านมานาน มาทำงาน มาหาเงิน อะไรก็ตาม เขาไม่คุ้นเคยที่จะกลับบ้าน จึงต้องมีมาตรการดูแลในจุดนี้
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ทำงานได้ดีมากในหลายพื้นที่ แต่ในอนาคตยังน่าเป็นห่วง ว่าทรัพยากรที่มีอาจจะไม่เพียงพอ เช่น บุคลากรน้อย ขณะที่ต้องดูแลทั้งจังหวัดที่มีประชากรเป็นล้านคน ต้องไม่ลืมว่า ใคร ๆ ก็มีโอกาสกลายเป็นคนไร้บ้านได้ และปรากฏการณ์โควิดสะท้อนปรากฏการณ์นี้ออกมาได้ชัดมาก
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม